โครงการสร้างเครือข่ายสื่อมวลชนไทยใส่ใจทางเลือกใหม่พลังงานไฟฟ้า “ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน พ.ศ. 2562 “

45

มิติหุ้น-ความมั่นคงทางพลังงาน การหาแหล่งพลังงานทดแทนหรือพลังงานทางเลือกที่มีปริมาณเพียงพอต่อการใช้พลังงานเพื่อตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐานของประชาชน เป็นสิ่งที่ทุกคนในสังคมต้องตระหนักถึงความสำคัญ และมีองค์ความรู้ที่ถูกต้อง โดยเฉพาะบทบาทของสื่อมวลชน ซึ่งเป็นกลุ่มผู้นำทางความคิด สามารถสื่อสารและให้ความรู้ที่ถูกต้องสู่สาธารณะ กองทุนพัฒนาไฟฟ้า สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน จึงได้มีการสนับสนุนบทบาทสื่อมวลชนไทยให้เป็นต้นแบบของผู้นำการเปลี่ยนแปลง ส่งเสริมสังคมและประชาชนให้มีความรู้ ความตระหนัก และมีส่วนร่วมทางด้านไฟฟ้า เพื่อนำไปสู่การจัดตั้ง “เครือข่ายสื่อมวลชนไทยใส่ใจทางเลือกใหม่พลังงานไฟฟ้า” ในอนาคต

จุดกำเนิดโครงการสร้างเครือข่ายสื่อมวลชนไทยใส่ใจทางเลือกใหม่พลังงานไฟฟ้า

นางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดิ เอ็กซ์ โซลูชั่นส์ จำกัด ในฐานะผู้บริหารโครงการฯ เปิดเผยว่า โครงการสร้างเครือข่ายสื่อมวลชนไทยใส่ใจทางเลือกใหม่พลังงานไฟฟ้า เป็นหนึ่งในโครงการที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้าเพื่อกิจการตามมาตรา 97(5) ประจำปีงบประมาณ 2562 โดยมีวัตถุประสงค์ในการสำรวจและค้นหาองค์กรสื่อและสื่อมวลชนที่ใส่ใจเรื่องพลังงานทางเลือก เพื่อพัฒนาศักยภาพสื่อมวลชนไทย พร้อมสร้างการมีส่วนร่วม รณรงค์และขยายผลให้ประชาชนและสังคมให้มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องพลังงาน โดยเฉพาะพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์และขยะ

สื่อมวลชนไทยผู้นำการเปลี่ยนแปลง

สำหรับบทบาทของสื่อมวลชนไทย นางดรุณวรรณ มองว่า ไม่ใช่มีความสำคัญเฉพาะการสื่อสารสาธารณะเท่านั้น แต่จะต้องมีบทบาทนำในการเป็น Change Agent หรือผู้นำการเปลี่ยนแปลง โครงการฯ นี้  จึงเห็นความสำคัญในการสร้างเครือข่ายสื่อมวลชนไทยใส่ใจทางเลือกใหม่พลังงานไฟฟ้าทั้งพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์และจากขยะ เพื่อเป็นต้นแบบผู้นำการเปลี่ยนแปลงในการรณรงค์และสื่อสารความเข้าใจที่ถูกต้องสู่สาธารณะ โดยมีเป้าหมายที่ต้องการเห็นผลเป็นรูปธรรม คือ ทำให้ภาคประชาชนหรือสาธารณชนได้เข้าใจถึงความจำเป็นของการมีพลังงานทางเลือกอื่น ๆ เพื่อเอามาผลิตเป็นกระแสไฟฟ้า เพราะฉะนั้นเมื่อภาคประชาชนมีความรู้ความเข้าใจในประเด็นเหล่านี้อย่างถ่องแท้แล้ว จะทำให้เกิดการมีส่วนร่วม และได้รับการสนับสนุนจากคนในชุมชน สังคม และประชาชนโดยทั่วไป

ชุมชนได้ประโยชน์ ประเทศชาติมีความมั่นคง

หากพูดถึงขยะ ปัจจุบันนับเป็นปัญหาที่ทุกประเทศต่างให้ความสำคัญ และมีการกำหนดนโยบายหรือมาตรการต่าง ๆ เพื่อให้สามารถควบคุมหรือบริหารจัดการขยะให้มีประสิทธิภาพ การนำขยะมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้านั้น นับว่ามีประโยชน์ในหลายมิติ ทำให้ปริมาณขยะในแต่ละพื้นที่มีปริมาณลดลง ส่งผลดีต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ สร้างรายได้แก่ชุมชน ลดการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ สร้างความมั่นคงด้านพลังงานและยังช่วยลดภาวะโลกร้อน ถือว่าเป็นการใช้ทรัพยากรบนโลกได้อย่างคุ้มค่า

โครงการสร้างเครือข่ายสื่อมวลชนไทยใส่ใจทางเลือกใหม่พลังงานไฟฟ้า ได้มีการจัดกิจกรรมนำสื่อมวลชนลงพื้นที่เรียนรู้และเยี่ยมชมโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะ ขนาดกำลังการผลิต 180 เมกะวัตต์ ณ บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPP จังหวัดสระบุรี เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และมีระบบบริหารจัดการที่ดี ซึ่งได้รับการตอบรับเข้าร่วมกิจกรรมจากสื่อมวลชนทุกแขนง อาทิ ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ คอลัมน์นิสต์ นักจัดรายการวิทยุ นักจัดรายการโทรทัศน์  สื่อออนไลน์จากสำนักข่าวต่าง ๆ รวมทั้งสิ้น 30 ราย โดยภายในปีนี้จะมีการจัดกิจกรรมเยี่ยมชมกิจการโรงไฟฟ้าพลังงานทางเลือกอีกจำนวน 2 ครั้ง โดยครั้งที่ 2 และครั้งที่ 3 จะลงพื้นที่เยี่ยมชมโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะ ตามลำดับ

 

สำรวจความคิดเห็นสื่อมวลชนทุกภูมิภาค

นอกจากการนำสื่อมวลชนลงพื้นที่เรียนรู้และเยี่ยมชมโรงไฟฟ้าพลังงานทางเลือกแล้วนั้น อีกหนึ่งกิจกรรมสำคัญคือการลงพื้นที่ทำการสัมภาษณ์เชิงลึกสื่อมวลชน (Focus Group) ในทุกภูมิภาคของประเทศไทย รวมทั้งสิ้น 6 ครั้ง ประกอบไปด้วย กรุงเทพมหานคร ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคใต้ ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ซึ่งหลังการสัมภาษณ์เชิงลึกสื่อมวลชนพบว่าสื่อมวลชนปัจจุบันมีองค์ความรู้ด้านพลังงานพอสมควร เพียงแต่ทางโครงการฯ ได้เข้าไปให้ข้อมูลเพิ่มเติมในส่วนที่เป็นภาพรวมของสถานการณ์พลังงานในประเทศ โดยมีนายมนูญ ศิริวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน เป็นผู้บรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับแนวโน้มธุรกิจพลังงานและเทคโนโลยีที่สำคัญ รวมถึงได้มีการสอบถามถึงข้อมูลที่สื่อต้องการนำไปใช้เพื่อเผยแพร่ต่อ เพื่อให้มั่นใจว่าสื่อในเครือข่ายสามารถสื่อสารและได้ข้อมูลด้านพลังงานทางเลือกที่ตรงความต้องการ เพื่อนำไปเผยแพร่ต่อให้สาธารณชนได้อย่างถูกต้องและครบถ้วน อย่างไรก็ตามประโยชน์ที่สำคัญที่สุดไม่ได้แค่เพียงให้องค์ความรู้กับเครือข่ายสื่อมวลชนเท่านั้น แต่สิ่งที่สำคัญมากไปกว่านั้นเป็นเรื่องของประเทศชาติ เมื่อประชาชนทุกคนมีความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องของพลังงานทางเลือกแล้ว ในอนาคตบุตรหลาน และคนในรุ่นต่อ ๆ ไปจะเติบโตขึ้นมาในสังคมที่มีพลังงานไฟฟ้าใช้ได้อย่างเพียงพอ

สื่อมวลชนพร้อมเข้าร่วมเครือข่าย

ดร.นงค์นาถ ห่านวิไล สื่อมวลชนอาวุโส ผู้ดำเนินรายการ ลับคมธุรกิจ FM 90.5 MHz หนึ่งในสื่อมวลชนที่สนใจเข้าร่วมเป็นเครือข่ายสื่อมวลชนไทยใส่ใจทางเลือกใหม่พลังงานไฟฟ้า กล่าวว่า สื่อมวลชนจะเป็นสื่อกลางในการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับประชาชน โครงการสร้างเครือข่ายสื่อมวลชนไทยใส่ใจทางเลือกใหม่พลังงานไฟฟ้า เป็นโครงการฯ ที่เป็นประโยชน์มาก เพราะปัจจุบันเรื่องพลังงานไม่ใช่เรื่องไกลตัวทุกคนอีกต่อไป ทุกภาคส่วนต้องมีส่วนร่วมในการเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้อง

ดร.นงค์นาถ กล่าวต่อว่า ในฐานะสื่อมวลชนมองว่าการสื่อสารข้อมูลด้านพลังงานอย่างถูกต้องมีความจำเป็นและสำคัญในการสร้างความเข้าใจและความน่าเชื่อถือต่อภาคประชาชน โดยเฉพาะสื่อมวลชนซึ่งถือเป็นด่านแรกในการรับข้อมูล ข่าวสาร หากมีการสื่อสารข้อมูลออกไปให้ประชาชนได้อย่างถูกต้อง และมีประสิทธิภาพแล้ว ประชาชนก็จะได้รับประโยชน์สูงสุด

ทั้งนี้คาดว่าสื่อมวลชนที่จะเข้าร่วมเครือข่ายมีกว่า 30 คนจะมีความรู้ความเข้าใจในพลังงานทางเลือกโดยเฉพาะพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ และขยะ เกิดเครือข่ายสื่อมวลชนไทยใส่ใจทางเลือกใหม่พลังงานไฟฟ้า และมีการวางแผนในการทำกิจกรรมร่วมกัน รวมถึงมีการเผยแพร่ความรู้นวัตกรรมกิจกรรมและความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวกับพลังงานทางเลือก ผ่านสื่อมวลชนแขนงต่าง ๆ ไปยังสาธารณชน

www.mitihoon.com