ราคาน้ำมันดิบร่วงหลังเจอพิษ ‘โควิด-19’-เตรียมเพิ่มกำลังการผลิตจากซาอุดิอาระเบียและรัสเซีย

313

ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 22-27 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 25-30 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

บทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ โดย บมจ.ไทยออยล์: ฉบับวันที่ 23 มีนาคม 2563

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (23 – 27 มี.ค. 63)

ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มทรงตัวในระดับต่ำต่อเนื่อง หลังความต้องการใช้น้ำมันดิบทั่วโลกอ่อนตัวลง เนื่องจากหลายประเทศทั่วโลกมีนโยบายในการปิดเมืองเพื่อระงับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ประกอบกับ สหรัฐฯ มีการประกาศระงับการเดินทางจากยุโรปและสหราชอาณาจักร นอกจากนี้ ซาอุดิอาระเบียและรัสเซียประกาศเตรียมเพิ่มกำลังการผลิตในเดือน เม.ย. 63 เพื่อทำสงครามราคาน้ำมัน กดดันให้อุปทานน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) เตรียมใช้มาตรการทางการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:

  • ตลาดจับตาราคาน้ำมันอย่างใกล้ชิดหลังราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงที่ระดับต่ำสุดในรอบ 18 ปี เนื่องจากตลาดกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกที่อาจเกิดขึ้นอีกครั้ง หลังเชื้อไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาดไปยังทั่วโลก ทำให้รัฐบาลหลายประเทศ เช่น สหรัฐฯ อิตาลี สเปน มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ประกาศปิดเมือง งดเว้นกิจกรรมต่างๆ และการเดินทาง เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส ส่งผลกดดันต่อความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกปรับตัวลดลง
  • ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ประกาศระงับการเดินทางจากยุโรปและสหราชอาณาจักร เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยให้มีผลในเวลาเที่ยงคืนของวันศุกร์ที่ 13 มี.ค. 63 และจะคงมาตรการนี้ไว้เป็นเวลา 30 วัน นอกจากนี้ สหรัฐฯ และแคนาดาตกลงที่จะปิดพรมแดนระหว่างกันสำหรับการเดินทางที่ไม่มีความจำเป็น ขณะที่ทั้งสองประเทศเร่งหาทางสกัดกั้นการระบาดของไวรัสโควิด-19
  • Goldman Sachs คาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันดิบในปี 2563 จะลดลง 1.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งถือเป็นการปรับตัวลงมากเป็นประวัติการณ์
  • สงครามราคาน้ำมันระหว่างซาอุดิอาระเบียและรัสเซียยังคงดำเนินต่อ หลังกลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตรไม่สามารถตกลงร่วมมือกันในการปรับลดกำลังการผลิต โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานของซาอุดิอาระเบียเผยว่าการส่งออกน้ำมันดิบของซาอุดิอาระเบียในเดือน เม.ย. 63 คาดว่าจะสูงกว่า 10 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งสูงขึ้นจากเดือน ก.พ. 63 ที่ส่งออกในระดับ 6.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่รัฐมนตรีพลังงานรัสเซีย กล่าวว่า รัสเซียจะเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันอีก 200,000 บาร์เรลต่อวัน ในเดือน เม.ย. 63
  • IHS Markit ประเมินว่าตลาดน้ำมันอาจอยู่ภาวะอุปทานล้นตลาด 8-1.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งจำนวนดังกล่าวมากกว่าในช่วงที่เกิดเหตุการณ์อุปทานล้นตลาดในปลายปี 2558 หลังซาอุดิอาระเบียและรัสเซียประกาศเตรียมเพิ่มกำลังการผลิตในเดือน เม.ย. 63 เพื่อทำสงครามราคาน้ำมัน
  • สหรัฐฯ เตรียมซื้อน้ำมันดิบเพื่อเข้าคลังสำรองเชิงยุทธศาสตร์ของประเทศ (SPR) เพื่อให้มีน้ำมันสำรองอย่างพอเพียงและเพื่อช่วยเหลือบรรดาผู้ผลิตพลังงานที่ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันดิบตกต่ำ
  • ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ 00% มาอยู่ที่ 0-0.25% พร้อมประกาศเข้าซื้อสินทรัพย์ทางการเงินตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณทางการเงิน (Quantitative Easing หรือ QE) วงเงินกว่า 7 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ
  • ธนาคารกลางยุโรป (ECB) พร้อมใช้มาตรการ QE จำนวนเงิน 8.2 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ หลังมีการเรียกประชุมฉุกเฉินวันที่ 18 มี.ค. 63 เพื่อหารือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
  • เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีภาคการผลิตของกลุ่มยูโรโซนเดือน มี.ค. 63 ดัชนีภาคการผลิตและภาคบริการสหรัฐฯ มี.ค. 63 และจีดีพีสหรัฐฯ ไตรมาส 4/62

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (16 – 20 มี.ค. 63)

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 9.30 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 22.43 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดลง 6.87 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 26.98 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 28.80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยราคาน้ำมันดิบร่วงลงอย่างหนักหลังได้รับผลกระทบจากการทำสงครามราคาน้ำมันระหว่างซาอุดิอาระเบียและรัสเซียที่เตรียมจะปรับเพิ่มกำลังการผลิตในเดือน เม.ย. 63 รวมทั้งความต้องการใช้น้ำมันที่ลดลงจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ไปทั่วโลก

www.mitihoon.com