กูรูชี้ตั้งกองทุนพยุงหุ้นไม่ง่าย ส่องSFLEXมีดี โควิดไม่กระทบ เชียร์ “ซื้อ”

218

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บล.ฟินันเซีย ไซรัส ประเมินการจัดตั้งกองทุนพยุงหุ้นอาจทำได้ลำบาก โดยระบุว่า ในอดีตมีการจัดตั้งกองทุนพยุงหุ้น 3 ครั้ง คือปลายปี 1987 Black Monday วงเงิน 1 พันลบ. ปี 1992 พฤษภาทมิฬ วงเงิน 1 หมื่นลบ. และปี 2001 ถล่มตึกเวิล์ดเทรด วงเงิน 1 หมื่นลบ. ทั้งสามครั้งสร้างเสถียรภาพให้ตลาดหุ้นได้และแทบจะเป็น bottom ในช่วงนั้นๆ แต่ครั้งนี้อาจลำบากเพราะ Market cap ปัจจุบันอยู่ที่ 13.4 ล้านล้านบาท ขณะที่ Market cap ในปีดังกล่าวอยู่ที่ 1-2 ล้านล้านบาท (กองทุนฯ 0.6-0.7% ของ Market cap) หากเป็นสัดส่วนเท่ากัน ครั้งนี้อาจใช้เงินสูงถึง 1 แสนลบ. และปัจจุบันการแพร่ระบาดยังพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วนอกจีน อาจสร้างความเชื่อมั่นได้ยาก

ปรับEPSลงรับผลกระทบไวรัสระบาด

ส่วนแนวโน้มตลาดคาด SET Index มีโอกาสปรับตัวลงต่อจากบรรยากาศการ ลงทุนที่เป็นลบโดยมีโอกาสปรับตัวลงทดสอบระดับ 950 จุดบวกลบในระยะนี้ จากสถานการณ์ระบาดของ COVID-19 ที่น่ากังวลอย่างมากทั่วโลก รวมถึงไทยที่คาดว่าเข้าสู่การระบาดระยะ 3 ในอนาคตแน่นอน

โดยปัจจัยดังกล่าวทำให้เศรษฐกิจในปี 2020 คาดว่าจะถดถอยทั่วโลก จึงยังแนะนำนักลงทุนให้เน้นถือเงินสดหลังทำกำไรบางส่วนไปแล้ว บริเวณ 1,400 จุดสัปดาห์ก่อน และรอติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด การประเมิน
Downside ของดัชนีปัจจุบันค่อนข้างลำบากเนื่องจากไม่สามารถประเมินผลกระทบของ COVID-19 ได้แน่ชัด ว่าจะลุกลามมากและกินระยะเวลานานเพียงใด

ทั้งนี้ฝ่ายวิจัย ปรับ EPS ปี 2563 ลง 8% สะท้อนผลของ COVID-19 และราคาน้ำมันที่ตกต่ำเหลือ 83.36 บาท -3% Y-Y (เดิมคาด +5.6% Y-Y) หากประเมินจุดต่ำแบบ base case ใช้ PE เฉลี่ย -1SD หรือ (11 เท่า) จะได้ดัชนี 958 จุด คิดเป็น Earnings yield gap (EYG) 7.5% กรณีเลวร้ายสุด PE -2SD (9 เท่า เท่ากับช่วง Subprime) จะได้ดัชนี 764 จุดและ EYG 10% หากถึงระดับดังกล่าวจริง จะเป็นรอบขาขึ้นรอบใหญ่ยาว 4 ปีเช่นในอดีต

ชี้เป้าSFLEXแกร่ง มีดีน่าลงทุน

อย่างไรก็ตาม หากดัชนีปรับตัวลงเข้าใกล้กรอบล่างที่ประเมิน มองว่าเป็นจังหวะเริ่ม “ทยอยซื้อลงทุน” แนะนำกลยุทธ์เน้นถือเงินสดรอดูสถานการณ์ ส่วนหุ้นในพอร์ตเน้นเป็น Defensive และ Dividend Play ชี้เป้าหุ้นเด่นเดือน มี.ค. CHG, EA, RBF, SFLEX, SISB แนะนำ “ซื้อ” SFLEX จากราคาหุ้นที่แข็งแกร่งกว่าตลาด ขณะที่ธุรกิจของบริษัทยังเป็นปกติไม่ถูกกระทบจาก COVID-19 เพราะสินค้าของลูกค้าส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่มีความจำเป็นในชีวิตประจำวัน

นอกจากนี้ การขยายฐานลูกค้าไปกลุ่ม Food ซึ่งมีมูลค่าใหญ่กว่าตลาด Non food มาก และจะเจาะตลาด premium packaging ซึ่งแข่งขันน้อย มาร์จิ้นสูง และจะเพิ่มการผลิตอีก 1 เครื่องจักรในครึ่งปีหลังของปี63 เชื่อจะทำให้กำไรปีนี้โตได้ 85% ปัจจุบันมี PE 14 เท่า จะลดเหลือ 12 เท่าปีหน้า และมี Div. Yld. อีก 3% (ปันผล 0.15 บ/หุ้น XD 11 พ.ค.) ราคาเป้าหมายอยู่ที่ 6.48 บาท

www.mitihoon.com