กลุ่ม JMART โชว์สตอรี่ใหม่ปี 63 เร่งเกม Synergy ติดปีกธุรกิจในเครือ

444

มิติหุ้น – JMART มั่นใจปี 2563 เติบโตต่อเนื่อง ตั้งเป้ากำไรทำสถิติสูงสุด หรือเติบโตจากปีก่อนร้อยละ 25 จากบริษัทในเครือเดินเกมรุก นำโดยธุรกิจบริหารหนี้ของ JMT เป็นฐานกำไรที่สำคัญ ในขณะที่ Jaymart Mobile เดินหน้าขยายสินค้ากลุ่มมาร์จิ้นสูง เพื่อรองรับโอกาสจาก 5G, J Fintech ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อมีคุณภาพ เน้น NPL อยู่ในระดับต่ำ นอกจากนี้ธุรกิจอสังหาฯ ของ J ประสบความสำเร็จในโครงการคอนโดมีเนียม นีเวร่า รวมถึง เตรียมเปิดศูนย์การค้าชุมชนแห่งใหม่ที่อมตะนคร Q2 ปีนี้อีกด้วย ในส่วนของ SINGER รุกธุรกิจการปล่อยสินเชื่อรถทำเงิน และขยายแฟรนไชส์ลงลึกให้ถึงทุกตำบล สนับสนุนด้วย JVC บุ๊ครายได้จากการพัฒนาระบบ DDLP แล้วเสร็จ แถมอยู่ระหว่างการปรับแพลตฟอร์มธุรกิจของเจมาร์ท Digitalization เสริมแผน Synergy ของบริษัทในเครือ

นายอดิศักดิ์ สุขุมวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ JMART เปิดเผยว่า ภาพรวมแผนการ Synergy ของกลุ่มบริษัทเริ่มเห็นภาพชัดเจน และในปี 2562 ที่ผ่านมาประสบความสำเร็จ บริษัทในเครือแต่ละสายธุรกิจหลัก มีผลประกอบการเป็นกำไร ในปี 2563 ตั้งเป้ากำไรเติบโตต่อเนื่องร้อยละ 25 จากปีก่อน โดยมีบริษัท เจเอ็มที ที่ยังคงเป็นฐานกำไรที่โดดเด่นต่อเนื่อง จากโอกาส และการขยายพอร์ตธุรกิจบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพทั้งที่มีหลักประกันและไม่มีหลักประกัน ประกอบกับ การพลิกฟื้นของผลประกอบการของบริษัทในเครือ สนับสนุน JMART มีผลการดำเนินงานประจำปี 2562 พลิกกลับมาทำกำไรสุทธิ 534 ล้านบาท บันทึกสถิติสูงสุดนับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทฯ โดยเพิ่มขึ้นจากปี 2561 ที่มีผลขาดทุน (277.1) ล้านบาท คิดเป็นการเติบโตร้อยละ 292.6 ส่วนรายได้รวมอยู่ที่ 11,334.8 ล้านบาท ลดลงราวร้อยละ 9.8

ทั้งนี้ JMART ในฐานะโฮลดิ้ง คอมพานี ที่ลงทุนในธุรกิจค้าปลีกและธุรกิจการเงิน มีโครงสร้างกลุ่มธุรกิจ ดังนี้ บริษัท เจมาร์ท โมบาย จำกัด ถือหุ้นสัดส่วนร้อยละ 99.9 บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นสัดส่วนร้อยละ 52.6 บริษัท เจเอเอส แอสเซ็ท จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นสัดส่วนร้อยละ 74.9 บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นสัดส่วนร้อยละ 30.3 บริษัท เจ ฟินเทค จำกัด ถือหุ้นสัดส่วนร้อยละ 95.6 บริษัทเจ เวนเจอร์ส จำกัด ถือหุ้นสัดส่วนร้อยละ 80 และ บริษัท บีนส์แอนด์บราวน์ จำกัด ถือหุ้นสัดส่วนร้อยละ 70

นายนราธิป วิรุฬห์ชาตะพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจมาร์ท โมบาย จำกัด หรือ Jaymart Mobile ผู้ประกอบธุรกิจจัดจำหน่ายมือถือและอุปกรณ์เสริม ในฐานะบริษัทแกน เปิดเผยถึง ผลประกอบการในปี 2562 มียอดขาย 7,441 ล้านบาท กำไรสุทธิ 91 ล้านบาท เป้าหมายการเติบโตในปีนี้ มุ่งเน้นการบริหารจัดการภายในที่ดีอย่างต่อนื่อง ปักธงบุกสินค้านวัตกรรมและเทคโนโลยี รับโอกาสจาก 5G ตอบสนองไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคยุคใหม่ อีกทั้งปรับกลยุทธ์เพื่อมุ่งสู่การเป็น Gadget Destination โดยการนำสินค้ากลุ่มแกดเจ็ตที่มีแนวโน้มการเติบโตสูง และอัตรากำไรที่ดี มาขยายผ่านสาขา Jaymart และ Jaymart ioT ซึ่งปัจจุบัน ณ สิ้นปี 2562 มีสาขาภายใต้การบริหารของบริษัทรวมกันที่ 192 สาขา ตั้งเป้าเปิดสาขาใหม่ภายในปีนี้ 15 สาขา รวมทั้ง การปรับโฉมใหม่สาขาเดิม 40 สาขา ควบคู่ไปกับการปรับเปลี่ยนสัดส่วนสินค้าในร้านเจมาร์ท ซึ่งมีสมาร์ทโฟนครบทุกแบรนด์ชั้นนำ ทำให้มีสินค้านวัตกรรมมากขึ้น อีกทั้ง ความสำเร็จในการเป็นพันธมิตรทางการค้ากับ AIS จัดจำหน่ายแพ็คเกจซิมควบคู่กับโทรศัพท์เคลื่อนที่ เพิ่มความสามารถการแข่งขันทางการตลาด

นายกิติพัฒน์ ชลวุฒิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ ฟินเทค จำกัด หรือ J Fintech บริษัทย่อยที่ดําเนินธุรกิจทางด้านการปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคล ภายใต้แบรนด์ “J Money” เปิดเผยถึง ผลประกอบการปี 2562 สามารถพลิกผลประกอบการให้มีกำไรสุทธิได้ที่ 67 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2562 มีมูลค่าของพอร์ตสินเชื่ออยู่ที 3,630 ล้านบาท มีอัตราการจัดเก็บหนี้ในชั้นปกติได้สูง อัตราเฉลี่ยร้อยละ 97 มีการจัดเก็บหนี้ที่ได้มีการตัดหนี้สูญกลับคืนเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ขณะที่ภาพรวม NPL Ratio อยู่ต่ำเพียงร้อยละ 5.02 ในปี 2563 เจ ฟินเทค ตั้งเป้าจะขยายพอร์ตสินเชื่อต่อเนื่อง โดยจะควบคุมคุณภาพการปล่อยสินเชื่ออย่างเข้มข้น จากการขยายผ่านช่องทางทั้งออฟไลน์และออนไลน์ ควบคู่การบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ

นายสุทธิรักษ์ ตรัยชิรอาภรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) หรือ JMT เปิดเผยถึง แนวโน้มผลประกอบการปี 2563 ตั้งเป้าทำสถิติสูงสุดใหม่ต่อเนื่อง ตอกย้ำการเป็นเบอร์หนึ่งภาคเอกชนในธุรกิจบริหารหนี้ด้อยคุณภาพรายใหญ่ของประเทศไทย จากปี 2562 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 681.3 ล้านบาท เติบโตจากปี 2561 ร้อยละ 34.8 ซึ่งเป็นยอดกำไรสุทธิสูงที่สุดของบริษัทตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทเป็นปีที่ 3 และมีรายได้รวมอยู่ที่ 2,524.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 35.1 สำหรับโอกาสในปีนี้ คาดสถานการณ์การซื้อหนี้เข้ามาบริหารได้ไม่ต่ำกว่าปีที่แล้ว จึงวางงบลงทุนไว้ที่ 4,500 ล้านบาท หลังจากปีที่ผ่านมาซื้อหนี้ไปกว่า 3,300 ล้านบาท เตรียมเปิดเจรจาซื้อหนี้ทั้งที่มีหลักประกันและไม่มีหลักประกัน โดยหากมีความต้องการในการขายหนี้ออกมาเพิ่มขึ้น บริษัทฯ ก็เตรียมวงเงินในการลงทุนไว้ถึง 6,000 ล้านบาท เพื่อพร้อมรับโอกาสในการเติบโต จาก ณ สิ้นปี 2562 บริษัทฯ มีพอร์ตบริหารหนี้รวมมากกว่า 174,000 ล้านบาท

สำหรับบริษัทย่อย บริษัท เจพี ประกันภัย จำกัด (มหาชน) โดยเจเอ็มทีถือหุ้นร้อยละ 55 มีการเติบโตที่ดีขึ้น จากเบี้ยประกันภัยเติบโตขึ้นและมีคุณภาพ รวมทั้ง กลยุทธ์การปรับเพิ่มสัดส่วนงาน Non-motor และยกเลิกงานประกันภัยรถสาธารณะ มุ่งเน้น Insure Tech เพื่อรองรับโอกาสการเติบโต รวมถึงการ Synergy จัดแคมเปญร่วมกับบริษัทในเครือ

นายสุพจน์ สิริกุลภัสสร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจเอเอส แอสเซ็ท จำกัด (มหาชน) หรือ J เปิดเผยถึง ภาพรวมปี 2563 เดินหน้าเติบโตต่อเนื่อง ชูโมเดล “The Jas Village” ขยายศูนย์การค้าตอบโจทย์ชุมชนในปีนี้ ล่าสุด ประกาศพัฒนาคอมมูนิตี้มอลล์แห่งใหม่ ที่ถนนคู้บอน กรุงเทพฯ บนที่ดินทั้งหมดกว่า 21 ไร่ และจะเป็นศูนย์การค้าที่มีพื้นที่พัฒนาใหญ่ที่สุดของบริษัทฯ คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปีนี้ สำหรับความคืบหน้าโครงการ “The Jas Village อมตะนคร” ใกล้นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จังหวัดชลบุรี เดินหน้าตามแผน คาดจะเปิดให้บริการภายในไตรมาส 2/2563 ปัจจุบัน มีร้านค้าเข้ามาเช่าพื้นที่แล้วกว่าร้อยละ 70 สนับสนุนให้ในปีนี้ บริษัทฯ มีโครงการคอมมูนิตี้มอลล์ภายใต้การบริหารรวม 4 โครงการ ได้แก่ The Jas วังหิน, The Jas รามอินทรา, JAS URBAN ศรีนครินทร์ และล่าสุด The Jas Village อมตะนคร สำหรับโครงการที่กำลังจะก่อสร้าง The Jas Village คู้บอน จะแล้วเสร็จในปี 2564 ขณะที่ การปล่อยพื้นที่ให้เช่าของผู้ค้ารายย่อยที่ขายมือถือและอุปกรณ์เสริมภายใต้ธุรกิจ IT Junction ปัจจุบันมีอยู่ 39 สาขา

สำหรับโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อขาย โครงการคอนโดมิเนียม นีเวร่า NEWERA เอกมัย รามอินทรา บริษัทฯ สามารถโอนส่งมอบห้องชุดเรียบร้อยกว่าครึ่งหนึ่งในปี 2562 ที่ผ่านมา เป็นปัจจัยสนับสนุนให้ผลงานปี 2562 พลิกมีกำไรสุทธิ และมั่นใจปี 2563 ยังมีห้องส่วนที่เหลืออีกครึ่งหนึ่งที่รอรับรู้เป็นรายได้ ซึ่งในส่วนนี้ อาจปรับกลยุทธ์เป็นการปล่อยเช่า เนื่องจากคอนโดฯ อยู่ในทำเลที่ดี และเพื่อให้สอดรับกับภาพรวมเศรษฐกิจในปัจจุบัน โดย ณ สิ้นปี 2562 บริษัทฯ มีรายได้รวม 962.1 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 17.2 ล้านบาท

นายกิตติพงศ์ กนกวิไลรัตน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SINGER เปิดเผยถึง ในปี 2563 จะเป็นปีที่บริษัทฯ สร้างฐานกำไรที่เติบโตต่อเนื่อง และตั้งเป้ารายได้เติบโต ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 จากปีก่อน โดยเน้นการขายผลิตภัณฑ์ในกลุ่มที่มีอัตรากำไรดี และให้ความสำคัญกับการควบคุมต้นทุน อีกทั้ง มีความพร้อมในการรุกธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ “รถทำเงิน” หลังธนาคารแห่งประเทศไทยอนุมัติใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคล (Personal – Loan) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และความพร้อมของทีมขายเพื่อบุกตลาดทั่วประเทศ สนับสนุนสัดส่วนรายได้ให้เติบโตขึ้น จาก ณ สิ้นปี 2562 ทั้งนี้ สินเชื่อรถทำเงิน และ สินเชื่อเพื่อธุรกิจรายย่อยมีสัดส่วนของพอร์ตสินเชื่อกว่าร้อยละ 53 ขณะที่ ธุรกิจเช่าซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าและสินค้าเชิงพาณิชย์ มองว่ายังมีการเติบโตที่ดี และจะเข้าสู่ช่วง ไฮซีซั่นในการขายเครื่องปรัปอากาศให้กับลูกค้าในหน้าร้อนนี้อีกด้วย

โดยปัจจุบัน SINGER ได้มีการเพิ่มจำนวนตัวแทนขายที่มีคุณภาพ และขยายไปยังธุรกิจแฟรนไชส์ หรือสาขาย่อยลงไปในระดับตำบลอย่างต่อเนื่อง จากปัจจุบันมีสาขารวมกันทั้งสิ้น 1,115 สาขา ครอบคลุม 763 ตำบล จาก 475 อำเภอทั่วประเทศ ทั้งนี้ เป้าหมาย SINGER จะขยายเครือข่ายการขายแบบเจาะลึกทุกอำเภอเข้าถึงในทุกตำบล เพื่อขยายฐานลูกค้าให้เติบโตมากขึ้น โดยตั้งเป้าเปิดให้ครอบคลุม 925 อำเภอ ในปี 2563 และจนครบ 7,000 กว่าตำบลทั่วประเทศภายในปี 2565

สำหรับ ผลการดำเนินงานงวดปี 2562 บริษัทฯ พลิกกลับมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 305.4 อยู่ที่ 165.9 ล้านบาท และนับเป็นกำไรสูงสุดในรอบ 5 ปี รายได้รวมอยู่ที่ 2,610 ล้านบาท ส่วนระดับ NPL อยู่ในระดับร้อยละ 9.4 นับเป็นตัวเลขต่ำสุดในรอบ 3 ปี

นายธนวัฒน์ เลิศวัฒนารักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเจ เวนเจอร์ส จำกัด หรือ JVC เปิดเผยว่า ในปี 2562 ที่ผ่านมา ได้พัฒนาระบบสินเชื่อดิจิทัลที่ไม่มีตัวกลาง JFIN DDLP (Decentralized Digital Lending Platform) บนเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) เสร็จสิ้น และพร้อมใช้งานเร็วกว่ากำหนดการเดิมที่วางไว้ตาม White Paper ทำให้ในปีนี้ บริษัทฯ สามารถรับรู้รายได้ตามมาตรฐานบัญชีเข้ามาราว 85 ล้านบาท จากเงินระดมทุนผ่านทาง ICO อีกทั้ง ยังมีแผนพัฒนาแพลตฟอร์มใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง และรับรู้ส่วนแบ่งในฐานะผู้พัฒนาแพลตฟอร์มหากมีคนเข้ามาขอสินเชื่อ ได้แก่ แพลตฟอร์ม ป๋า , J Loan Lite , เต็มใจเพย์ และอื่นๆ เพื่อสร้างฐานรายได้ที่เติบโตขึ้น จึงคาดว่า ในปี 2563 จะเป็นอีกปีที่ดีของ เจ เวนเจอร์ส

ขณะเดียวกัน ภารกิจหลักของ เจ เวนเจอร์ส คือการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้ภายในกลุ่มเจมาร์ท หรือการทำ Digitization เข้ามาสร้างโอกาสในอนาคต ทั้งการยืนยันตัวตน การรับรู้พฤติกรรมของผู้บริโภค และพัฒนาไปสู่โมเดลธุรกิจ O2O หรือ Online to Offline รวมทั้ง Offline to Online ให้กลุ่มเจมาร์ทมุ่งสู่การเป็นผู้นำในธุรกิจค้าปลีกและการเงินที่แข็งแกร่งที่สุด และเป็นอีกหนึ่งผู้นำทางด้านเทคโนโลยี รองรับการ Disruption ของธุรกิจค้าปลีกและการเงินในอนาคต