ดอลลาร์แข็งค่า รับวาเลนไทน์ หลังโมเมนตัมเศรษฐกิจสหรัฐแข็งแกร่งเกินคาด(14/02/2563)

232

นับตั้งแต่ต้นปี 2563 นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิตลาดหุ้นไต้หวัน ไทย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในจีนซึ่งกดดันราคาสินทรัพย์เสี่ยงและสกุลเงินในภูมิภาค โดยเฉพาะประเทศที่เชื่อมโยงสูงกับจีนทั้งในด้านการค้าและการท่องเที่ยว อย่างไรก็ดี หากนับเฉพาะภูมิภาคเอเชียไม่รวมญี่ปุ่นและจีน กระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายยังเป็นบวกราว 1.4 พันล้านดอลลาร์ เนื่องจากการเข้าซื้อหุ้นอินเดีย 3.2 พันล้านดอลลาร์ (ข้อมูลถึงวันที่ 7 กุมภาพันธ์) โดยอินเดียได้แรงหนุนจากผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนที่แข็งแกร่ง ส่วนตลาดหุ้นอินโดนีเซียและเวียดนามมีเงินลงทุนจากต่างชาติไหลเข้าเล็กน้อย (ภาพด้านล่าง)

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ เดินหน้าทำสถิติสูงสุดใหม่และลดความต้องการถือครองเงินเยนแม้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรทั่วโลกจะย่อตัวลง ประเด็นสำคัญ คือ ข้อมูลของสหรัฐฯ ยังดูสดใสโดดเด่นกว่ากลุ่มเศรษฐกิจหลักแห่งอื่นๆ โดยรายงานล่าสุดบ่งชี้ว่าการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเดือนละ 2.06 แสนตำแหน่งในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ส่วนอัตราการว่างงานแม้จะขยับขึ้นเป็น 3.6% ในเดือนมกราคม แต่ยังอยู่ใกล้ระดับต่ำสุดในรอบ 50 ปี ที่ 3.5% ขณะที่ค่าจ้างเฉลี่ยรายชั่วโมงยังคงปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลบวกต่อแนวโน้มการบริโภคในสหรัฐฯ นอกจากนี้ ดัชนี ISM ภาคการผลิตและภาคบริการเดือนมกราคมของสหรัฐฯ ออกมาดีเกินคาดเช่นกัน ในทางตรงกันข้าม ตัวเลขจากยูโรโซนสะท้อนภาคการผลิตที่ซบเซาอย่างรุนแรงโดยเฉพาะสองประเทศเศรษฐกิจชั้นนำ โดยผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของเยอรมันและฝรั่งเศสร่วงลงถึง 3.5% และ 2.8% ในเดือนธันวาคม เพิ่มความเสี่ยงที่จีดีพีไตรมาส 4/2562 ของเขตยูโรโซนจะหดตัว ซ้ำร้ายนี่เป็นข้อมูลก่อนที่การระบาดของไวรัสจะกระทบกิจกรรมเศรษฐกิจในไตรมาสแรกของปีนี้ ขณะที่การผลิตของสเปนและเนเธอร์แลนด์ในเดือนมกราคมยังคงอยู่ในภาวะอ่อนแอต่อเนื่อง ทำลายความหวังที่ว่าเศรษฐกิจยูโรโซนเริ่มมีเสถียรภาพบ้างแล้ว โดยค่าเงินยูโรแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 4 เดือนเมื่อเทียบกับดอลลาร์

เมื่อกลุ่มตลาดเกิดใหม่ในเอเชียเผชิญพิษไวรัสรุมเร้า ห่วงโซ่การผลิตที่เชื่อมโยงกับจีนสะดุดลง ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯยังรักษาโมเมนตัมของการเติบโตได้แข็งแกร่งเกินคาด เงินดอลลาร์มีแนวโน้มแข็งค่านานกว่าที่เราเคยประเมินไว้ อย่างไรก็ดี ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ซึ่งแสดงท่าทีลังเลต่อการคุมเข้มนโยบายการเงินและมีเงื่อนไขซับซ้อนต่อการปรับขึ้นดอกเบี้ย สัญญาณดังกล่าวส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ทรงตัวในระดับต่ำ และการวิ่งขึ้นของเงินดอลลาร์อาจถูกจำกัดเป็นระยะ

โดยรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการ
ผู้บริหารฝ่ายส่งเสริมธุรกิจโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)

www.mitihoon.com