IRPC ปรับกลยุทธ์ธุรกิจรับความท้าทายปี 2563 ขยายตลาดในประเทศ – Hedging ลดเสี่ยงส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์

452

มิติหุ้น – ไออาร์พีซี ปรับกลยุทธ์การดำเนินงานปี 63 รับความท้าทายตลาดโลกผันผวน เน้นขยายตลาดในประเทศ รุกผลิตสินค้ามูลค่าเพิ่ม บริหารความเสี่ยงเพื่อป้องกันความผันผวนของส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์น้ำมัน ลดการพึ่งพาการใช้น้ำมันดิบจากแหล่งตะวันออกกลาง พร้อมรับแนวโน้มความต้องการใช้ปิโตรเคมีที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ไตรมาส 4 ยังได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ พร้อมจ่ายปันผลผู้ถือหุ้น 0.10 บาท/หุ้น

นายนพดล ปิ่นสุภา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้ปรับแผนกลยุทธ์การดำเนินงานในปี 2563 เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันและเพิ่มประสิทธิภาพการทำกำไร โดยการขยายตลาด ในประเทศเพิ่มขึ้น (Domestic First) เพื่อลดความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของตลาดโลก เพิ่มการเจาะตลาดสินค้ามูลค่าเพิ่มร่วมกับพันธมิตร (Strategic Partners) และปรับปรุงประสิทธิภาพของโรงงานผลิต (Reliability Improvement) ป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาน้ำมัน (Hedging Management) รวมทั้งลดการพึ่งพาการใช้น้ำมันดิบจากตะวันออกกลางเพื่อบริหารความเสี่ยงแหล่งวัตถุดิบ (Secured Feedstock)

บริษัทฯ คาดการณ์ว่าความต้องการใช้น้ำมันของตลาดโลกอยู่ที่ประมาณ 102.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้น 1.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากปีที่แล้ว เนื่องจากโรงกลั่นกลับมาเดินกำลังการผลิตอย่างเต็มที่เพื่อผลิตน้ำมันตามมาตรฐานน้ำมันเดินเรือใหม่ (IMO 2020) รวมทั้งสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนเริ่มผ่อนคลาย โดยคาดการณ์ราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบดูไบปี 2563 อยู่ในช่วง 55 – 65 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ส่วนภาพรวมตลาดปิโตรเคมี คาดว่าความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ปรับตัวดีขึ้นจากการปรับเพิ่มประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกปี 2563 ของธนาคารโลก เพิ่มขึ้นเป็น 2.5% ในปี 2563 จาก 2.4% ในปี 2562 และการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ส่งผลให้ความต้องการพลาสติกในกลุ่มสินค้าเวชภัณฑ์ และสินค้าบรรจุภัณฑ์เพื่อการขนส่ง (Delivery Products) สูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการลดการบริโภคพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียว (Single Use Plastic) ตลอดจนการเพิ่มขึ้นของกำลังการผลิตใหม่ที่มีมาอย่างต่อเนื่อง บริษัทฯ จึงได้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงด้วยการวิจัยและพัฒนาร่วมกับลูกค้าอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง รวมถึงการหาพันธมิตรทางการผลิต และการตลาดในกลุ่มผลิตภัณฑ์ชนิดพิเศษ เพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ เช่น กลุ่มผลิตภัณฑ์ยานยนต์ กลุ่มผลิตภัณฑ์ทุ่นลอยน้ำสำหรับโซลาร์เซลล์ และกลุ่มผลิตภัณฑ์เพื่อพัฒนาแบตเตอรี่
สำหรับผลการดำเนินงานไตรมาส 4/2562 เริ่มดีขึ้น โดยมีขาดทุนสุทธิ 513 ล้านบาท ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 3/2562 ที่ขาดทุนสุทธิ 1,321 ล้านบาท เป็นผลมาจากการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านราคา (Hedging) แม้จะได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนที่ยืดเยื้อเรื่อยมาตั้งแต่กลางปี 2561 และความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกาและอิหร่านที่ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายด้านการขนส่งสูงขึ้น ประกอบกับ supply ใหม่จากจีนและมาเลเซีย ทำให้ส่วนต่างของราคาผลิตภัณฑ์ลดลง

เพื่อลดผลกระทบดังกล่าว บริษัทฯ ได้มองหาตลาดใหม่ๆ ในกลุ่มประเทศ AEC ที่มีแนวโน้มเศรษฐกิจโตต่อเนื่อง มุ่งเน้นการพัฒนานวัตกรรมเพื่อตอบสนองให้ตรงต่อความต้องการของลูกค้าและสิ่งแวดล้อม หรือ Human Centric ทำให้ลูกค้ามีความ พึงพอใจสูงสุด รวมถึงรุกธุรกิจผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลซึ่งมีความต้องการสูงมากในแถบยุโรป
นายนพดล กล่าวว่า ปี 2563 สถานการณ์ตลาดโลกมีแนวโน้มที่จะดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นผลจากการเซ็นสัญญาระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ทำให้สงครามการค้าผ่อนคลายลง ส่วนต่างราคาน้ำมันกำมะถันต่ำ (LSFO) ที่ดีขึ้น และหากแนวโน้มตลาดเป็นไปตามคาด บริษัทฯ ก็สามารถดำเนินการผลิตอย่างเต็มที่โดยเพิ่มขึ้นจาก 2 แสนบาร์เรลต่อวัน ในปี 2562 เป็น 2.15 แสนบาร์เรลต่อวันได้

นอกจากนี้ IRPC ได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับ บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินอล จำกัด และ บริษัท ไทย ไปป์ไลน์ เน็ตเวิร์ค จำกัด เพื่อเพิ่มช่องทางในการขยายตลาดโดยพัฒนาระบบขนส่งน้ำมันทางท่อ จากโรงกลั่นน้ำมัน IRPC ไปสู่ระบบขนส่งน้ำมันทางท่อของ Thappline เพื่อร่วมกันสร้างช่องทางขนส่งผลิตภัณฑ์น้ำมัน High Speed Diesel ตามมาตรฐาน Euro V และน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน (Jet A1)
ทั้งนี้ คณะกรรมการบริษัทฯ ได้มีมติอนุมัติการจ่ายเงินปันผลสำหรับผลดำเนินงานประจำปี 2562 ในอัตรา 0.10 บาท ต่อหุ้น คิดเป็นเงินประมาณ 2,043 ล้านบาท จากกำไรสะสมส่วนที่ยังไม่ได้จัดสรร โดยจะเสนอที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาอนุมัติในวันที่ 7 เมษายน 2563 ต่อไป