YLG คาดไวรัสอู่ฮั่นหนุนราคาทองบวกต่อเนื่อง เปิดสถิติเทียบช่วงซาร์ระบาดดันทองคำบวกกว่า 6%

120

มิติหุ้น-วายแอลจี บูลเลี่ยน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด คาดสถานการณ์ไวรัสอู่ฮั่นระบาดส่งผลนักลงทุนวิตก แม้ยอมรับทางการจีนตอบสนองสถานการณ์ได้รวดเร็ว แต่นักลงทุนยังต้องการความชัดเจนการควบคุมการระบาด พร้อมเปิดสถิติราคาทองคำช่วงซาร์ระบาดในปี 2546 พบราคาทองคำเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 6.48%  ช่วงพีคสุดพุ่งแรง 21.94% เหตุทั่วโลกปรับพอร์ตการลงทุนสู่สินทรัพย์ปลอดภัย ส่วนการระบาดของไวรัสอู่ฮั่นล่าสุดแม้อัตราเสียชีวิตต่ำกว่าซาร์แต่ยังต้องประเมินสถานการณ์ต่อเนื่อง แนะนำนักลงทุนเน้นเข้าซื้อทำกำไรระยะสั้น

นางพวรรณ์ นววัฒนทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (YLG) ผู้นำเข้าและส่งออกทองคำแท่งรายใหญ่ของไทยเปิดเผยว่า แม้ว่ารัฐบาลจีนจะตอบสนองและดำเนินการอย่างรวดเร็วเพื่อสกัดการระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ (ไวรัสอู่ฮั่น) อย่างไรก็ดี  นักลงทุนยังวิตกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคจะมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น  ดังนั้น  ตราบใดที่ยังไม่มีความชัดเจนว่าการระบาดของไวรัสอู่ฮั่นสามารถควบคุมได้แล้ว  ราคาทองคำก็มีแนวโน้มได้รับแรงหนุนต่อไป  แม้ว่าการระบาดของโรคจะกระทบต่อความต้องการบริโภคทองคำของจีนอยู่บ้างก็ตาม  

ทั้งนี้  หากเปรียบเทียบจากข้อมูลช่วงที่เกิดโรคระบาดในอดีตพบว่าเมื่อปี 2546 ได้เคยเกิดการระบาดของโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง หรือ ซาร์  โดยจุดเริ่มต้นของการพบผู้ป่วยซาร์เกิดขึ้นครั้งแรกในเดือน พ.ย.ของปี  2545 ที่มณฑลกวางตุ้งของจีน  ก่อนที่ในเดือน ก.พ. ปี 2546 การระบาดของซาร์จะแพร่กระจายอย่างรวดเร็วจากจีนไปสู่ฮ่องกง  และระบาดต่อเนื่องไปยังอีก 30 ประเทศทั่วโลก  จนกระทั่งองค์กรอนามัยโลก (WHO) จะประกาศสิ้นสุดการระบาดของซาร์ในเดือน ก.ค.ปีเดียวกัน  ทำให้มีผู้เสียชีวิตจากซาร์มากถึง  774 คนทั่วโลก  จากจำนวนผู้ป่วย 8,098 คน  หรือ คิดเป็นอัตราการเสียชีวิตที่ 9.56%

จากการเคลื่อนไหวของราคาทองคำในช่วงเวลาดังกล่าว  ทำให้สามารถประเมินว่าผลกระทบของการระบาดของโรคต่อทองคำนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในทางบวกและทางลบ  ในทางบวกนั้นมาจากแรงซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยอันเนื่องมาจากความวิตกว่าการระบาดของโรคจะกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจทั่วโลก  ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นในช่วงตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2545 -เม.ย.2546 ที่เกิดความวิตกเกี่ยวกับซาร์สูงที่สุด  ในครั้งนั้น ราคาทองคำทะยานขึ้นจาก 318.6 ดอลลาร์ต่อออนซ์ในช่วงต้นเดือน ธ.ค. ปี 2545  สู่ระดับ 339.25 ดอลลาร์ต่อออนซ์ในช่วงสิ้นเดือน เม.ย. ปี 2546 หรือ คิดเป็นการเพิ่มขึ้น 6.48%  โดยมีการขึ้นไปแตะระดับสูงสุดภายในช่วงเวลาดังกล่าวที่ 388.5 ดอลลาร์ต่อออนซ์ในเดือน ก.พ. 2546 หรือปรับตัวสูงขึ้นมากสุดถึง 21.94%

ส่วนผลกระทบในทางลบนั้นจะเกิดขึ้นต่อปริมาณความต้องการบริโภคทองคำของจีน  เนื่องจากจีนเป็นผู้บริโภคทองคำอันดับหนึ่งของโลก  และหากย้อนกลับไปดูในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2546 ที่เกิดการระบาดของซาร์  จะเห็นได้ชัดว่าตัวเลขปริมาณความต้องการบริโภคทองคำของจีนในช่วงเวลาดังกล่าวลดลงเกือบ 1 ใน 3 จากไตรมาสก่อนหน้าจากระดับ 63.2 ตันในช่วงไตรมาส 1 สู่ระดับ 44.6 ตันในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2546  ก่อนที่ปริมาณความต้องการบริโภคทองคำของจีนจะฟื้นตัวขึ้นในช่วงไตรมาส 3  สู่ระดับ 58.6 ตันซึ่งเป็นช่วงหลังจากสิ้นสุดการระบาดของซาร์ 

นับจากไวรัสซาร์ในปี 2546 สู่ไวรัสโคโรน่าสายพันธ์ใหม่(ไวรัสอู่ฮั่น) ในครั้งนี้ ได้สร้างความวิตกให้กับนักลงทุน และหนุนแรงซื้อสินทรัพย์ปลอดภัยเป็นวงกว้างซึ่งรวมถึงทองคำ เนื่องจากเชื้อไวรัสดังกล่าวแพร่ระบาดไปยังประเทศต่างๆทั่วโลกอย่างรวดเร็ว ขณะที่ล่าสุดเมื่อวันที่ 30 ม.ค. องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศว่า การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เป็น “ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขของโลก”  

ดังนั้นนักลงทุนยังคงเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด แม้ว่าข้อมูลทางสถิติบ่งชี้ว่า ยอดผู้เสียชีวิตจากเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธ์ใหม่ คิดเป็นเพียง 2.2% จากยอดผู้ติดเชื้อเท่านั้น  ต่ำกว่าช่วงเกิดโรคซาร์ในปี 2546 ซึ่งพบยอดผู้เสียชีวิตมากถึง 9.56จากยอดผู้ติดเชื้อ  แต่ยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรน่าที่พุ่งทะลุแซงหน้าซาร์เมื่อ 17 ปีก่อน ได้สร้างความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจจีนและทั่วโลก  ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยในออสเตรเลียคาดการณ์ว่า มูลค่าความเสียหายจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่อาจมากกว่าเม็ดเงินที่สูญเสียไปในช่วงการระบาดของซาร์ มากถึง 3-4 เท่า ซึ่งส่งผลเชิงบวกต่อราคาทองคำ และมีแนวโน้มหนุนราคาทองคำได้ต่อเนื่อง ตราบใดที่ยังไม่มีการประกาศว่าสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาได้

สำหรับกลยุทธ์การลงทุนในช่วงนี้ แนะนำหาจังหวะเข้าซื้อหากราคาย่อตัวลงมาและไม่หลุดแนวรับ 1,560 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หรือ 23,000 บาทต่อบาททองคำ โดยควรตั้งจุดตัดขาดทุนหากราคาหลุดแนวรับแรกในทันที เพื่อรอซื้อใหม่บริเวณแนวรับถัดไปโซน 1,536 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หรือ 22,600 บาทต่อบาททองคำ สำหรับนักลงทุนที่มีทองคำในมือ แนะนำให้แบ่งขายทำกำไรหากราคาดีดตัวขึ้นหรือบริเวณแนวต้าน 1,5891,598 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หรือ 23,40023,550 บาทต่อบาททองคำ แต่หากราคาผ่านได้สามารถถือต่อเพราะแนวโน้มราคาทองคำจะเป็นบวกมากขึ้น  และแนะนำติดตามข่าวสารการระบาดของโรคอย่างใกล้ชิด 

สำหรับนักลงทุนที่สนใจเปิดบัญชีซื้อ-ขาย ทองคำแท่งกับ YLG  สามารถซื้อขายได้ตลอด 24 ชั่วโมง ทาง www.ylgonline.com และทาง YLG Online Application  บน  App Store ที่ทำให้ซื้อขายทองคำทุกที่ได้อย่างง่ายดาย ตลอดจนการบริการส่งมอบทองคำแท่งให้กับลูกค้าด้วยความรวดเร็ว