กรุงศรีคาดเงินบาทซื้อขายในกรอบ 31.00-31.50 มองกนง.อาจลดดอกเบี้ย หลังแนวโน้มเศรษฐกิจมีปัจจัยเสี่ยงเพิ่มขึ้น

67

มิติหุ้น-กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 31.00-31.50 ต่อดอลลาร์เทียบกับระดับปิดอ่อนค่าที่ 31.13 ต่อดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หลังเงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 7 เดือน ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นไทย 1.14 หมื่นล้านบาทแต่ซื้อพันธบัตร 6.1 พันล้านบาท ส่วนในเดือนม.ค.เพียงเดือนเดียว เงินบาทอ่อนค่าลงถึง 3.8% ซึ่งเป็นสกุลเงินที่อ่อนค่ามากที่สุดในภูมิภาคท่ามกลางความกังวลต่อภาคธุรกิจท่องเที่ยว ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทยหลายช่วงอายุแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ส่วนเงินดอลลาร์อ่อนค่าเทียบกับสกุลเงินสำคัญส่วนใหญ่ และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องเนื่องจากตลาดวิตกเพิ่มมากขึ้นเกี่ยวกับการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี มองว่า นักลงทุนจะยังจับตาสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา ผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีนและเศรษฐกิจโลก รวมถึงการดำเนินมาตรการของจีนในการเข้าพยุงตลาดซึ่งกลับมาเปิดทำการหลังเทศกาลตรุษจีน นอกจากนี้ ข้อมูลภาคบริการและการจ้างงานของสหรัฐฯ จะอยู่ในความสนใจของตลาดการเงินโลกเช่นกัน หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศคงดอกเบี้ยนโยบายเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

สำหรับปัจจัยในประเทศ กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ มองว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีโอกาสมากขึ้นที่จะตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจาก 1.25% ลงสู่จุดต่ำสุดครั้งใหม่ในการประชุมวันที่ ก.พ.ท่ามกลางความเสี่ยงด้านขาลงของเศรษฐกิจที่กระทบความเชื่อมั่นอย่างมีนัยสำคัญแม้ประสิทธิผลอาจจำกัดจากระดับดอกเบี้ยในปัจจุบันที่ต่ำมากแล้ว อย่างไรก็ดี หากกนง.เลือกที่จะคงดอกเบี้ยไว้เพื่อรอดูข้อมูลในระหว่างนี้ เราเชื่อว่าจะมีการปรับลดในการประชุมเดือนมี.ค. ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่าเศรษฐกิจไทยปี 2562 อาจเติบโตต่ำกว่าประมาณการเดิมของธปท.ที่ 2.5% ส่วนในปี 2563 การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาและความล่าช้าของงบประมาณจะทำให้เศรษฐกิจปีนี้ขยายตัวต่ำกว่าประมาณการของธปท.ที่ 2.8% ค่อนข้างมาก ทั้งนี้ คาดว่าผลกระทบมากที่สุดจะปรากฎชัดในไตรมาสแรกของปี ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดอาจแคบลงจากรายได้การท่องเที่ยวที่จะสะดุดลงซึ่งช่วยลดแรงกดดันต่อการแข็งค่าของเงินบาท อนึ่ง เราประเมินว่าเมื่อสถานการณ์ไวรัสคลี่คลายลง เศรษฐกิจมีโอกาสฟื้นตัวลักษณะ V-shaped เช่นกัน