บล.ทรีนีตี้ คาดกรอบดัชนี SET ปีนี้ 1,480 – 1,700 จุด แนะจัดพอร์ตลงทุนหุ้นปันผลสูง ชู SCC-PTT-BCP-ADVANC-BBL เด่น

98
ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บล.ทรีนีตี้ โดยดร.วิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล กรรมการผู้จัดการ ประเมินว่าจีดีพีไทยปี 63 จะขยายตัว 2.8-2.9 % ขณะที่คาดการณ์ทิศทางดัชนีหุ้นไทยปีนี้จะแกว่งตัวเป็น Sideway ขนาดใหญ่ ในกรอบ 1,480-1,700 จากประมาณการกำไรหรือ EPS ที่ยังคงไม่มีสัญญาณการถูกปรับขึ้น แต่ตลาดหุ้นไทยจะมีแรงจูงใจเรื่องเงินปันผล (Yield-Driven Market) ที่ดี  โดยคาดการณ์ว่า ดัชนีหุ้นไทยจะปรับตัวดีขึ้นในช่วง 4 เดือนแรก ตามปัจจัยฤดูกาลของหุ้นปันผลสูง ก่อนที่จะปรับย่อตัวลงหลังจากนั้น
“ทรีนีตี้ ประเมินดัชนีเป้าหมายปี 63 ว่าจะขึ้นไปได้สูงสุดที่ระดับ 1,700 จุด อิง Forward PE ที่ระดับ 15.4 เท่า และประมาณการ EPS ปี 64 ที่ระดับ 110.9 บาท โดยประเมินว่า ประมาณการ EPS ในตลาดหุ้นไทย จะเริ่มแกว่งแรงอีกครั้ง ในช่วงใกล้ประกาศงบบริษัทจดทะเบียน (บจ.)ไตรมาส 4/62 เริ่มตั้งแต่การประกาศงบการเงินของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ แต่ถ้า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับลดดอกเบี้ยนโบายลงอีก 0.25% เป้าหมายของ PE จะถูกปรับเพิ่มขึ้นจาก 15.4 เท่าเป็น 15.8 เท่า ทำให้เป้าหมายดัชนีหุ้นเพิ่มขึ้นได้อีก 40 จุด  มาสู่ระดับ 1,740 จุด” ดร. วิศิษฐ์ กล่าว
ชณะที่ปัจจัยที่เป็นบวกต่อตลาดหุ้นคือ สงครามการค้าที่ผ่านพ้นความตรึงเครียดสูงสุดไปแล้ว ทำให้ผู้ผลิตและผู้จัดซื้อมีความเชื่อมั่นที่สูงขึ้น ทำให้เศรษฐกิจโลกมีโอกาสขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย จากสงครามการค้าที่รุนแรงลดลง ขณะที่สภาพคล่องในระบบการเงินโลกยังคงสูงอยู่ สะท้อนผ่านขนาดงบดุลของธนาคารกลางสำคัญที่จะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไป ขณะที่ประเทศไทย ความคาดหวังสำคัญอยู่ที่การใช้จ่ายลงทุนของภาครัฐ หลังพ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 ได้รับความเห็นชอบจากสภาฯ ในไตรมาส 1/63 นี้ บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มีความแข็งแกร่งทางด้านการเงินมาก
ส่วนปัจจัยที่เป็นลบคือ ค่าเงินบาทในเชิงเปรียบเทียบกับการแข่งขัน บ่งบอกถึงไทยกำลังสูญเสียศักยภาพในการแข่งขัน โครงสร้างประชากรที่สูงวัยมากขึ้น การเกิด Technology Disruption การจ้างงานที่ลดลงทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลง การผลิตในประเทศลดลง
ขณะที่ Fund Flow หรือกระแสเงินทุนจะยังไม่เข้าหุ้นไทย โดยนักลงทุนต่างชาติเป็นฝ่ายขายสุทธิกว่า 3,000 ล้านบาท นับตั้งแต่ต้นปี 2563 และเป็นขายสุทธิกว่า 5 แสนล้านบาทในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา โดยสัดส่วนการถือครองของต่างชาติในตลาดหุ้นไทยถือว่าลดลงเกือบต่ำสุดในรอบ 15 ปี โดยมีสัดส่วนการถือครองหุ้นไทยอยู่ที่ 28.2%ของมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวม (มาร์เก็ตแคป)
ขณะที่นักลงทุนสถาบันในประเทศมียอดซื้อสุทธิกว่า 5 แสนล้านบาทในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แต่เชื่อว่าหลังจากนี้ จะชะลอตัวลง หลังสิทธิพิเศษภาษีกองทุน LTF หมดลง และผันไปเป็นกองทุน SSF ซึ่งทำให้เม็ดเงินลงทุนลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยปัจจุบันเม็ดเงิน LTF ในระบบมีอยู่ 3.8 แสนล้านบาท จะทยอยหมดอายุภายในปี 2568 ถ้าไม่มีกองทุนอื่นมาทดแทน
ทั้งนี้ บล.ทรีนีตี้ แนะนำการจัด Portfolio โดยให้ลงทุนในหุ้น 30% (แบ่งเป็นหุ้นไทย 10% และหุ้นต่างประเทศ 20% โดยเฉพาะหุ้นใน Asian เช่นหุ้นจีน และหุ้นเวียดนาม โดยเน้นกองทุนที่สามารถลงทุน โดยไม่มี Foreign Premium) ลงทุนในตราสารหนี้ 30% (ตราสารหนี้ไทย 10% และตราสารหนี้ต่างประเทศ 20%) ลงทุนทองคำ 10% (ลงทุนในกองทุนทองคำที่ Fully hedged ค่าเงิน) ลงทุนกองทุนอสังหาริมทรัพย์ 10% (กองทุนในประเทศ 5% และกองทุนต่างประเทศ 5%) ที่เหลือให้ถือเป็นเงินสด 20% เพื่อใช้เป็นจังหวะในการซื้อสินทรัพย์ ในช่วงที่ราคาปรับตัวลงมา
สำหรับกลยุทธ์การลงทุน แนะนำลงทุนหุ้นในกลุ่มปันผลสูง ซึ่งประเมินว่าจะให้ผลตอบแทนดี โดยจังหวะนี้แนะนำ SCC-PTT-BCP-ADVANC-BBL เด่น
www.mitihoon.com