NER ปักธงรายได้ปี 63 แตะ 2 หมื่นลบ. ลุยเดินเครื่องโรงงานใหม่ Q2/63 ขยายกำลังผลิตเท่าตัว รุกไบโอแก๊ส-ออกสินค้าใหม่มาร์จิ้นสูง

278

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ.นอร์ทอีส รับเบอร์ หรือ NER ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง และยางผสม เพื่อจำหน่ายไปยังผู้ผลิตในอุตสาหกรรมต่าง ๆ และกลุ่มผู้ค้าคนกลางทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยนายชูวิทย์ จึงธนสมบูรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้ารายได้รวมปี 2563 เติบโตไม่ต่ำกว่า 50% เนื่องจากบริษัทเริ่มได้รับคำสั่งซื้อยางเพิ่มขึ้นจากลูกค้าเดิม และลูกค้ารายใหม่หลายราย ประกอบกับโรงงานผลิตแห่งใหม่ซึ่งจะเปิดดำเนินงานในไตรมาสที่ 2/63 ทำให้บริษัทมีกำลังการผลิตโดยรวมเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าตัว โดยประมาณการว่าจะสามารถทำยอดขายยางในปี63 ได้ราว 400,000 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 62 ที่มีกำลังการผลิตอยู่ที่ 290,000 ตัน นอกจากนี้ราคาขายเฉลี่ยในปี 63 จะสูงกว่าปี 62 ค่อนข้างมากเนื่องจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นจากการซื้อของผู้ซื้อยางจากประเทศจีน

สำหรับสัดส่วนของยอดขายในปี 63 จะมีการปรับเป็น ต่างประเทศ 35% และในประเทศ 65% จากเดิมที่ปี 62 ยอดขายต่างประเทศ และในประเทศจะอยู่ที่ 40:60 เนื่องจากผลจากสงครามการค้าที่ทำให้ฐานการผลิตจากประเทศจีนย้ายมาตั้งโรงงานอยู่ที่ประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น

ด้านความคืบหน้าของลูกค้ารายใหม่ คือ มิชลิน ซึ่งเป็นผู้ผลิตล้อยางรายใหญ่ของโลก ขณะขั้นตอนได้ผ่านการเข้าตรวจสอบโรงงานของบริษัทเรียบร้อยแล้ว และต่อไปจะเข้าสู่ขั้นตอนสุดท้ายคือ การตรวจสอบตัวอย่างสินค้า จากนั้นจะเป็นการสั่งสินค้าตามสัญญาการซื้อขายอย่างเป็นทางการต่อไป โดยปัจจุบัน บริษัทมีลูกค้าอยู่ 40 ราย เป็นลูกค้า Long Team ที่มีการซื้ออย่างต่อเนื่องจำนวน 25 ราย

พร้อมกันนี้ ในกลางปี 63 บริษัทมีแผนที่จะออกผลิตภัณฑ์ใหม่ เป็นสินค้าสำเร็จรูปที่เป็นแผ่นปูนอน แผ่นรองพื้นในคอกของปศุสัตว์ โดยมีการพัฒนาสูตรร่วมกับ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) โดยการนำยาง STR ที่ทางบริษัทมีส่งไปให้โรงงานอื่นผลิตตามสูตรที่ทาง มอ. กำหนดไว้ เพื่อลดต้นทุนในการก่อสร้างโรงงานและการจ้างแรงงาน และคาดว่าในเดือน พ.ค.นี้ ทางบริษัทจะสามารถนำส่งสินค้าให้ลูกค้าได้ทดลองใช้เพื่อนำมาปรับขนาดและสภาพการใช้งาน ทั้งนี้บริษัทคาดว่าในอีก 2 ปีข้างหน้านำส่งออกสามารถส่งออกยางไปที่ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ สำหรับยอดขายสินค้าสำเร็จรูปแผ่นปูนอนสัตว์ รวมถึงล่าสุด ยังได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) เพื่อพัฒนาสินค้าใหม่ๆเพิ่มเติมอีกในอนาคตอีกด้วย

โดยสินค้าใหม่จะให้อัตรากำไรขึ้นต้น (มาร์จิ้น) สูงถึง 25% เมื่อเทียบกับธุรกิจยางพาราที่ให้มาร์จิ้นเพียง 5% ดังนั้นบริษัทคาดว่าจะช่วยพลักดันให้ความสามารถในการทำกำไรเพิ่มขึ้น ซึ่งในปี 63 บริษัทตั้งเป้ารายได้จากสิ้นค้าใหม่ไว้ที่ 200 ล้านบาท และจะสามารถเพิ่มขึ้นได้ในปีต่อๆไป

สำหรับโครงการไบโอแก๊สนั้น ทางกระทรวงพลังงานได้มีโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนจากชีวภาพ โดยบริษัทได้เข้าร่วมโครงการดังกล่าว เพราะบริษัทได้เล็งเห็นถึงการต่อยอดการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในอนาคต โดยบริษัทได้ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่ม (Quick Win) คือกลุ่มแรกที่จะได้ขายไฟฟ้าก่อน ซึ่งจะต้องขายไฟภายในปี 63 โดยคาดว่าจะสามารถสร้างรายได้ให้กับบริษัทปีละ 400 ล้านบาท จากโรงไฟฟ้าไบโอแก๊สที่มีอยู่แล้ว 2 โครงการ กำลังการผลิตรวมราว 4.3 เมกะวัตต์ อีกทั้งยังมีแผนที่จะขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเป็นทั้งหมด 40 เมกะวัตต์ภายใน 2 ปี และยังเป็นโอกาสในการขยายไปสู่โรงไฟฟ้าอื่นๆ ได้ในอนาคตซึ่งจะสร้างรายได้เข้ามาเพิ่มให้กับบริษัทได้อีก นอกจากนี้บริษัทยังสามารถนำความร้อนจากการปั่นไฟฟ้า มาใช้ในกระบวนการอบยาง ซึ่งสามารถลดต้นทุนการใช้แก๊ส ได้ถึงวันละ 70,000 บาท จากปัจจุบันอยู่ที่ 150,000 บาท

สำหรับผลประกอบการในปี 62 คาดว่ารายได้รวมโตที่ 30% ตามเป้าจากปี 61 ที่มีรายได้รวม 10,084.01 ล้านบาทเนื่องจากช่วงที่ผ่านมาโรงงานผลิตเดิมได้มีการเพิ่มกำลังการผลิตได้เป็นไปตามแผน อีกทั้งยังมีคำสั่งซื้อจากลูกค้ารายใหญ่ในประเทศเพิ่มขึ้น จนทำให้ปัจจุบันกำลังการผลิตของบริษัทเต็ม 100 % แล้ว นอกจากนี้บริษัทยังคาดว่าจะสามารถรักษาอัตรากำไรได้ดีจากการป้องกันความเสี่ยงของราคายางที่ผันผวนด้วยวิธี matching order โดยเมื่อมีคำสั่งซื้อจะสต็อกยางไว้ส่งมอบด้วยราคาที่ตกลงกันในเวลานั้น ไม่ได้เป็นการรับคำสั่งซื้อมาก่อนแล้วค่อยหาสินค้ามาส่งมอบภายหลังซึ่งราคาอาจจะไม่เท่าเดิม

www.mitihoon.com