KBANK สนลงทุน “เอแบงค์” ในเมียนมามีมูลค่าสินทรัพย์5,800 ลบ. โบรกคาดไม่กระทบฐานะการเงิน

170

มิติหุ้น-จากบทวิเคราะห์ บล.เอเซีย พลัส ระบุว่าจากกรณี Bloomberg อ้างถึงหนังสือพิมพ์ the Myanmar times เปิดเผยว่า KBANK อยู่ระหว่างพิจารณาเข้าถือหุ้นในสัดส่วน 35% ในธนาคาร Ayeyarwaddy Farmers Development Bank ประเทศเมียนมา (Unlisted) เพื่อต่อยอดการเติบโตในประเทศที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจราว 6% ต่อปี (อิง IMF) โดยตามข่าวธนาคารดังกล่าวมีมูลค่าสินทรัพย์ 314 พันล้านจ๊าตพม่า หรือราว 190 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ราว 5,800 ล้านบาท)

เบื้องต้นยังไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับธุรกรรมดังกล่าวมากนัก (โดยเฉพาะราคาในการซื้อขาย) หากธุรกรรมดังกล่าวเกิดขึ้นจริง ฝ่ายวิจัยมีมุมมองเป็นกลางต่อธุรกรรมดังกล่าว พิจารณาจากสินทรัพย์ตามข้างต้น มูลค่า 5,800 ล้านบาท จะคิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.2% ของสินทรัพย์ KBANK ณ สิ้นงวด ไตรมาส3/62 คาดแทบไม่มีผลต่อฐานะการเงินบริษัทฯ (CAR Ratio ณ 3Q62 ที่ 19.1% แบ่งเป็น Tier-1 ที่ 16.8% และ Tier – 2 ที่ 2.3%) และประมาณการกำไรสุทธิปี 2563 – 64

แม้ยังคงแนะนำซื้อ แต่การตัดสินใจลงทุนควรรอหลังงบ ไตรมาส4/62 ที่จะประกาศวันที่ 21 ม.ค. 63 ที่จะเห็นแนวโน้มคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคาร ซึ่งเป็น Sentiment เชิงลบ ที่กดดันหุ้นในกลุ่มฯ ในช่วงเวลานี้ ประเมินราคาพื้นฐานที่ 169 บาท/หุ้น

ธ.กสิกรรับสนใจลงทุนใน “เอแบงค์”ของเมียนมา

ขณะที่บมจ.ธนาคารกสิกรไทย(KBANK)โดย ดร.อดิศวร์ หลายชูไทย เลขานุการบริษัท รองกรรมการผู้จัดการอาวุโสแจ้งว่า ตามที่มีข่าวเรื่องธนาคารกสิกรไทยและ เอยาวดี ฟาร์มเมอร์ ดีเวลลอปเม้นท์แบงก์(เอแบงก์)เข้าพบธนาคารกลางแห่งสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เกี่ยวกับการเข้าร่วมลงทุนในเอแบงค์ของธนาคารนั้น ธนาคารกสิกรไทยขอเรียนว่า ตามประกาศของธนาคารกลางแห่งสาธารณรัฐแหห่งสหภาพเมียนมานั้นสามารถเข้าไปดำเนินธุรกิจได้ใน 3 รูปแบบ ดังนี้

  1.จัดตั้งธนาคารพาณิชย์ที่เป็นบริษัทลูกของธนาคารต่างประเทศ (Subsidiary)

  2.จัดตั้งสาขาต่างประเทศของธนาคารกสิกรไทยในเมียนมา (Foreign Bank Branch)

  3.การเข้าร่วมลงทุนในธนาคารท้องถิ่นในประเทศเมียนมา (Equity Participation)

รอแบงก์ชาติอนุมัติ

ธนาคารได้เข้าพบธนาคารกลางแห่งสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เพื่อแสดงความจำนงในการเข้าร่วมลงทุนในธนาคารท้องถิ่นในประเทศเมียนมา อยา่งไรก็ตาม ข้อสรุปการลงทุน ความเป็นไปได้ของการดำเนินธุรกิจยังอยู่ในระหว่างขั้นตอนของการพิจารณา รวมทั้งการเจรจาและศึกษาโครงสร้างที่เหมาะสมของการเข้าไปดำเนินธุรกิจในประเทศเมียนมา เพื่อใช้เงินลงทุนที่คุ้มค่าและเป็นประโยชน์สูงสุดกับธนาคารรวมทั้งสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ของธนาคารกลางแห่งสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ธนาคารแห่งประทเทศไทย และกฎหมายที่เกี่ยวข้องของทั้งสองประเทศ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของธนาคารกลางแห่งสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และธนาคารแห่งประเทศไทยว่าจะอนุมัติหรือไม่ และในรูปแบบใด

สำหรับการขยายธุรกิจสู่ประเทศเมียนมานั้น ธนาคารมีความมุ่งมั่นที่ทำให้ประชาชนและธุรกิจในเมียนมาสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้มากขึ้น (Financial Inclusion) เสริมความแข็งแกร่งให้แก่เศรษฐกิจของเมียนมา ขยายโอกาสและความสัมพันธ์ให้แก่ธุรกิจข้ามระหว่างประเทศไทย-เมียนมาได้มากขึ้นด้วย

www.mitihoon.com