ก.ล.ต. ร่วมมือ DSI สืบสวนและสอบสวน EARTH กรณีเหมืองถ่านหิน พร้อมกล่าวโทษ EARTH และกรรมการซึ่งต้องรับผิดชอบ 3 ราย

73

มิติหุ้น-ก.ล.ต. กล่าวโทษ บริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัด (มหาชน) (EARTH) และกรรมการซึ่งต้องรับผิดชอบ 3 รายต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กรณีที่ EARTH ฝ่าฝืนคำสั่งตามมาตรา 58 (1) ไม่นำส่งเอกสารหรือรายงาน ปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งในสาระสำคัญ และเผยแพร่ข้อความอันทำให้ผู้ลงทุนเข้าใจผิดในสาระสำคัญของบริษัท พร้อมทั้งร่วมมือกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ภายใต้กรอบบันทึกความตกลง MOU ในการสืบสวนกรณีสงสัยการได้มาซึ่งสิทธิในเหมืองถ่านหินที่ประเทศอินโดนีเซียของ EARTH และได้แจ้งการดำเนินคดีต่อ ปปง.

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวโทษ EARTH และกรรมการ 3 ราย ได้แก่ (1) นายสาวิน จินดากุล (2) นางสาวภารดี เตียววณิชกุล และ (3) นายนพดล ชัยดรุณ ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เพื่อพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป กรณีที่ EARTH ฝ่าฝืนคำสั่งตามมาตรา 58 (1) เข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 274 และมาตรา 281/10 ประกอบมาตรา 58 (1) และกรณี EARTH เผยแพร่ข้อความอันอาจก่อให้เกิดความสำคัญผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับเหมืองถ่านหินที่ประเทศอินโดนีเซีย เข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 240 แห่ง พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ รวมทั้งกล่าวโทษกรรมการ 3 รายข้างต้นที่ต้องรับผิดชอบในการกระทำความผิดของ EARTH ตามมาตรา 300 แห่ง พ.ร.บ. ฉบับเดียวกันด้วย

การกล่าวโทษผู้กระทำผิดทั้ง 4 รายดังกล่าว สืบเนื่องจากที่ ก.ล.ต. อาศัยอำนาจตามมาตรา 58 (1) แห่ง พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ สั่งให้ EARTH ชี้แจงและเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับความมีอยู่จริงของสิทธิในเหมืองถ่านหินและทบทวนมูลค่ายุติธรรมของสิทธิในเหมืองถ่านหินในประเทศอินโดนีเซีย 2 แห่ง ตามรายงานการประเมินฉบับที่ว่าจ้างให้จัดทำโดยผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการของ EARTH ในขณะนั้น ซึ่งมีบริษัท อีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด หรือ EY เป็นผู้ทำแผน ทั้งนี้ EARTH ได้มาซึ่งสิทธิในเหมืองดังกล่าวโดยการนำสินทรัพย์ของกลุ่มบริษัทที่มีมูลค่ารวมกันประมาณ 24,000 ล้านบาทไปแลกเปลี่ยน แต่ EARTH ไม่นำส่งเอกสารหรือรายงานตามที่ ก.ล.ต. สั่งการ ซึ่งนอกจากจะเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งดังกล่าวแล้ว ยังเป็นการปกปิดข้อความจริงที่ควรบอกให้แจ้งในสาระสำคัญต่อผู้ลงทุนด้วย

ต่อมา เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2562 EARTH เปิดเผยต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ระบุถึงมูลค่าของสิทธิในเหมืองถ่านหิน 2 แห่ง ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 25,100 ล้านบาท และประมาณ 29,000 ล้านบาท ตามรายงานประเมินของบริษัทผู้ประเมิน 2 ราย ที่ EARTH อ้างว่าได้ว่าจ้างเอง แต่จากการตรวจสอบรายงานประเมินทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว พบว่า EARTH นำปริมาณถ่านหินที่ไม่สามารถขุดขึ้นมาขายได้และไม่มีสิทธิเนื่องจากเกินกว่าอายุสัมปทานที่ได้รับ มารวมคำนวณเป็นมูลค่ารวมของสิทธิในเหมืองถ่านหินของบริษัท นอกจากนี้ ยังระบุว่า EARTH จะเริ่มขุดถ่านหินได้ในปี 2019 (พ.ศ. 2562) และปี 2020 (พ.ศ. 2563) ตามลำดับ ทั้งที่ในวันที่เปิดเผยข้อมูลดังกล่าว EARTH ยังมีปัญหาสภาพคล่อง และยังไม่ปรากฏชัดเจนว่า EARTH จะสามารถจัดหาเงินทุนมาใช้เพื่อจะเริ่มขุดถ่านหินได้ในปีดังกล่าว การกระทำดังกล่าวเข้าข่ายเป็นการเผยแพร่ข้อความอันก่อให้เกิดความสำคัญผิดในสาระสำคัญ

นอกจากนี้ ก.ล.ต. และ DSI ได้หารือร่วมกันภายใต้บันทึกความร่วมมือ (MOU) ลงวันที่ 15 กรกฎาคม 2562 เพื่อดำเนินการสืบสวนสอบสวนร่วมกันเพื่อให้ได้มาซึ่งพยานหลักฐานและข้อเท็จจริงในการพิสูจน์ประเด็นข้อสงสัยว่าอาจมีการกระทำความผิดในประเด็นอื่นที่เกี่ยวข้องกับการได้มาซึ่งสิทธิในเหมืองถ่านหินของ EARTH ที่ประเทศอินโดนีเซีย พร้อมกันนี้ ก.ล.ต. ยังได้แจ้งการดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ ข้างต้น ต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ซึ่งเป็นความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

อนึ่ง การกล่าวโทษของ ก.ล.ต. เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของกระบวนการบังคับใช้กฎหมายทางอาญาเท่านั้น ภายใต้กระบวนการนี้ การพิจารณาวินิจฉัยว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายเป็นขั้นตอนในอำนาจการสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ การสั่งฟ้องคดีของพนักงานอัยการ ตลอดจนดุลพินิจของศาลยุติธรรม ตามลำดับ