ECF บุ๊กโรงไฟฟ้ามินบู-ดันQ4พีคแรง

260

มิติหุ้น-ECF คอนเฟิร์มแนวโน้มธุรกิจไตรมาส 4/62 สดใส ความสามารถการทำกำไรปรับตัวดีขึ้น ชูกลยุทธ์บริหารจัดการต้นทุนการขายและการบริหาร ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์เข้าไฮซีซั่น ออเดอร์ส่งออกลูกค้าญี่ปุ่น จีน อินเดีย ตะวันออกกลางทะลัก ดันยอดขายต่างประเทศพุ่ง ออกสินค้าใหม่เสริมการตลาดในประเทศ เน้นพัฒนาช่องทางจำหน่ายที่มีประสิทธิภาพ ขยายฐานลูกค้ากลุ่มผู้รับเหมา ด้านธุรกิจพลังงาน โรงไฟฟ้ามินบู เมียนมาร์ เริ่มรับรู้กำไรจากการขายไฟไตรมาส 4 นี้

นายอารักษ์ สุขสวัสดิ์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.อีสต์โคสท์เฟอร์นิเทค หรือ ECF เปิดเผยว่า แนวโน้มธุรกิจช่วงไตรมาส 4 จะเติบโตต่อเนื่องและปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจนช่วงปีหน้า เนื่องจากธุรกิจเฟอร์นิเจอร์เข้าสู่ช่วงไฮซีซั่นทั้งนี้ การจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์ส่งออกไปต่างประเทศ มีสัญญาณการเติบโตที่ดีอย่างมีนัยสำคัญ จากกลุ่มลูกค้ารายใหม่ในญี่ปุ่น จีน อินเดีย และตะวันออกกลาง โดยแต่ละรายที่เริ่มเป็นลูกค้ากับบริษัทถือเป็นลูกค้ารายใหญ่และมีศักยภาพที่จะสามารถสร้างโอกาสการเติบโตของคำสั่งซื้อเฟอร์นิเจอร์ในอนาคตได้อย่างต่อเนื่อง โดยลูกค้าบางรายคือผู้จำหน่ายเฟอร์นิเจอร์ออนไลน์รายใหญ่ของประเทศ บางรายคือผู้นำเข้าเฟอร์นิเจอร์รายใหญ่ของประเทศ และบางรายคัดเลือกให้บริษัทเป็นผู้ผลิตหลักเพียงรายเดียวในประเทศ โอกาสที่ได้รับเหล่านี้เป็นผลจากทีมการตลาดส่งออกเดินหน้าติดต่อลูกค้ารายใหญ่ในประเทศที่มีศักยภาพในการสั่งซื้ออย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มเห็นผลประสบความสำเร็จตั้งแต่ช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2562 นี้ ปัจจุบันบริษัทมียอดคำสั่งซื้อสินค้ายาวต่อเนื่องจนถึงไตรมาสที่ 1 ปี 2563 แล้ว รวมถึงยังมีกลุ่มลูกค้าที่มีศักยภาพและเป็นรายใหญ่ที่อยู่ระหว่างการเจรจาอีกหลายราย

ขณะที่ตลาดในประเทศ บริษัทมุ่งเน้นกระตุ้นยอดขายในช่องทางจำหน่ายใหม่ ๆ ผ่านร้านโมเดิร์นเทรดชั้นนำที่มีสาขาทั่วประเทศ ล่าสุดสามารถเพิ่มช่องทางจำหน่ายผ่านร้านโมเดิร์นเทรดได้อีก 2 ราย ซึ่งแต่ละรายมีโอกาสการเติบโตผ่านการขยายสาขาอย่างต่อเนื่องด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ยังได้เริ่มออกผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อจำหน่ายในรูปแบบอุปกรณ์ก่อสร้างที่ใช้วัตถุดิบจากไม้ยางพารา เพื่อจำหน่ายให้กับกลุ่มลูกค้าผู้รับเหมาที่รับงานติดตั้งให้กับผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่หลายรายของประเทศ

ส่วนของธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ นอกจากโอกาสในการเติบโตตามที่กล่าวมา บริษัทยังมุ่งเน้นการบริหารจัดการเพื่อลดต้นทุนและค่าใช้จ่าย การจัดการช่องทางการจัดจำหน่ายที่มีประสิทธิภาพ อาทิ ปรับลดสาขาโชว์รูมเฟอร์นิเจอร์ที่ไม่สามารถสร้างรายได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้เพื่อลด fixed cost เป็นต้น และจากการรับคำสั่งซื้อจำนวนมาก ช่วยสร้างโอกาสในการต่อรองต้นทุนวัตถุดิบให้กับบริษัทเพื่อให้เกิดการประหยัดจากขนาด (Economies of scale) ได้อีกด้วย ประกอบกับบริษัทควบคุมค่าใช้จ่ายในการเข้าศึกษาความเป็นไปได้ในธุรกิจอื่น ๆ ที่ไม่ใช่เฟอร์นิเจอร์ ซึ่งเริ่มเห็นผลจากสัดส่วนกำไรสุทธิที่ค่อย ๆ ปรับตัวเพิ่มขึ้นตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ที่ผ่านมา

สำหรับธุรกิจพลังงานทดแทนจะเห็นการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรอย่างชัดเจนมากขึ้น โดยที่ผ่านมารับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลภาคใต้ขนาด 7.5 เมกะวัตต์ ขณะที่โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ขนาด 220 MW มินบู ประเทศเมียนมาร์ ที่เฟสแรก (50 MW) สามารถจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ COD ได้ในปลายไตรมาส 3 ที่ผ่านมา จะรับรู้ส่วนแบ่งกำไรงวดแรกเข้ามาเต็มในไตรมาส 4 นี้ ส่วนเฟสที่ 2 3 และ 4 อยู่ระหว่างการวางแผนเพื่อก่อสร้างให้ครบโดยเร็วที่สุด ซึ่งหากครบทั้ง 4 เฟส บริษัทคาดการณ์รับรู้ส่วนแบ่งกำไรอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 80 – 100 ล้านบาทต่อปี นอกจากนี้มียังโครงการโรงไฟฟ้าทั้งในและต่างประเทศที่อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการเข้าลงทุนด้วย

www.mitihoon.com