ช้าๆ ได้พร้า (5จี) 3 เล่มงาม !

1052

 

ปรากฏการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในแวดวงสื่อสารโทรคมนาคมที่อยู่ภายใต้การกำกับของ “คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)” ที่กำลังปล้ำผีลุก ปลุกผีนั่ง กับการประมูลคลื่นความถี่ 5จี ที่หวังจะให้ประเทศไทยเปิดให้บริการเป็นประเทศแรกในภูมิภาคนี้

แต่ยิ่งใกล้กำหนดการจัดประมูลตาม “ไทม์ไลน์” ที่ กสทช.กำหนดเวลาไว้ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 63 หรืออีกไม่ถึง 3 เดือนจากนี้ ก็ยิ่งมีแต่ความอึมครึมเต็มไปด้วยความว้าเหว่ ประชาชนคนไทยดูจะไม่อินังขังขอบอะไรเอากับเทคโนโลยี 5จี ที่นัยว่า จะพลิกโฉมหน้าโลกอะไรกันนี้ ตรงกันข้ามดูเหมือนผู้ประกอบการสื่อสารโทรคมนาคมยังแสดงออกมาเด่นชัดยังไม่พร้อมที่จะเข้าประมูล และถึงขั้นเสนอให้ กสทช. เลื่อนไทม์ไลน์การประมูลไปปลายปีหน้าเสียด้วยซ้ำ

ไม่บ่อยนักที่เราจะเห็นค่ายสื่อสารโทรคมนาคมทั้ง 3 ค่าย อย่าง “เอไอเอส-ดีแทค และทรู” พร้อมใจกัน “ดับเครื่องชน” หน่วยงานกำกับดูแลอย่าง กสทช. ต่อกรณีการจัดประมูลคลื่นความถี่ 5จี ที่ กสทช. เพิ่งจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นสาธารณะไปวันก่อนด้วยปัจจัยหลายๆ ด้านที่ทุกค่ายต่างยืนยันว่ายังไม่ “เคลียร์คัตชัดแจ้ง”

โดย นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวยอมรับว่า ทั้ง 3 ค่ายมือถือได้เสนอให้ กสทช. นำคลื่นความถี่ 2600 เมกะเฮิร์ตซ์ (MHz) มาจัดประมูลก่อนเพียงคลื่นเดียว ส่วนคลื่น 700,1800 MHz และ 26 กิกะเฮิร์ตซ์ ให้นำออกประมูลในครั้งต่อไป เพราะทั้ง 3 ค่ายมือถือมีเงินลงทุนจำกัด หากจะประมูลพร้อมกันทุกคลื่นต่างยืนยันไม่มีกำลังที่จะประมูล

ขณะที่ นายมาร์คุส แอดอัคทูสเซ่น รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารดีแทค ระบุว่า แม้จะเห็นด้วยกับการที่ กสทช.จะดำเนินการประมูลคลื่น 5จี พร้อมกันหลายย่านความถี่ หรือ “มัลติแบนด์” แต่ในส่วนของหลักเกณฑ์ เงื่อนไขการประมูลคลื่น 5จี ที่สำนักงาน กสทช. โม่แป้งออกมานั้น ยังเต็มไปด้วยปัญหาไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการนำเอาคลื่นความถี่ 2600 เมกะเฮิร์ตซ์ (MHz) มาเป็นคลื่นหลัก ทั้งที่ยังเต็มไปด้วยปัญหายังมีหน่วยงานของรัฐใช้งานคลื่นดังกล่าวอยู่บางส่วน การตั้งราคาประมูลที่สูงเกินไปจนอาจสร้างภาระให้เอกชนผู้ลงทุน จึงเสนอให้เลื่อนไทม์ไลน์การประมูลออกไป เพื่อรอการเรียกคืนคลื่น 3500 เมกะเฮิร์ตซ์ ที่เป็นคลื่นที่หลายประเทศนำมาใช้งานรองรับ 5จี จะมีความเหมาะสมกว่า

“หากรัฐบาลต้องการขับเคลื่อน 5จี อย่างจริงจัง ก็ควรรอให้มีการเคลียร์คลื่น 3500 ที่ บมจ.ไทยคม ใช้งานอยู่ ซึ่งจะหมดสัมปทานกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ในเดือน ก.ย. ปี 2564 ดังนั้นควรรอคลื่น 3500 มาประมูลพร้อมกันซึ่งอาจล่าช้าไป 2-3 เดือนหรือ 6 เดือนก็ได้ แต่มั่นใจว่าไม่กระทบต่อแผนโดยภาพรวมของประเทศ”  

กล่าวโดยสรุป เวทีประชาพิจารณ์ที่มีต่อร่างประกาศ กสทช. ว่าด้วยหลักเกณฑ์ เงื่อนไขการประมูลคลื่น 5จีนั้น เห็นได้ชัดว่าผู้ประกอบการสื่อสารทุกค่ายต่างเสนอให้ กสทช. เลื่อน “ไทม์ไลน์” การประมูลออกไป เพื่อรอเคลียร์คัตในเรื่องของคลื่นที่จะนำมาประมูล โดยเฉพาะคลื่น 3500 เมกะเฮิร์ตซ์ ที่น่าจะเป็นคลื่นหลักรองรับเทคโนโลยี 5จี มากกว่าคลื่น 2600 ที่ กสทช. “ดั้นเมฆ” จะนำมาจัดประมูลเป็นรายแรกของโลกในครั้งนี้

ทั้งที่ก่อนหน้านี้ นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ก็ออกมายอมรับกับสื่อเองว่า “คลื่นที่ดีที่สุดในการนำมาทำ 5จี ก็คือคลื่น 3,400- 3,700 MHz (3,500 MHz) รองลงมาคือคลื่น 2,600 MHz” แล้วเหตุใด กสทช. ถึงไม่ไปเร่งรัดเจรจากระทรวงดีอีเอส เพื่อหาทางเรียกคืนคลื่น 3.5 GHz ที่ว่านี้มาประมูลเสียตั้งแต่แรก มัวไปฟ้อนเงี้ยวอยู่ที่ไหนกันหรือ? เพราะหากจะเร่งรัดเจรจากันจริงๆแบบไม่มีลีลา ก็น่าจะใช้เวลาไม่เกิน 5-6 เดือนจากนี้ก็น่าจะทำได้ ถึงเวลานั้นค่อยจัดประมูลก็ยังไม่สาย ไม่ได้ทำให้ประเทศต้องตกขบวน 5 จี หรือหล้าหลังเพื่อนบ้านแต่อย่างใด

ที่สำคัญ สิ่งที่ทุกฝ่ายควรตระหนัก การพัฒนาขับเคลื่อนเทคโนโลยี 5 จีนั้น คือ “บริการโครงสร้างพื้นฐาน” ที่ถือเป็น Infrastructure ไม่ต่างไปจากการโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นถนนหนทาง หรือการลงทุนระบบราง ที่รัฐบาลต้องเป็นผู้ลงทุน 100% แม้จะมีการให้สัมปทานเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้า หรือรถไฟความเร็วสูง แต่จะเห็นได้ว่าภาครัฐต่างมีมาตรการสนับสนุนการลงทุนในกิจการเหล่านี้อย่างชัดเจน ยิ่งในส่วนของรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มูลค่า 2.24 แสนล้านบาทนั้น คณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงกับอนุมัติงบลงทุนกว่า 1.47 แสนล้านบาท ไปให้เอกชนในระหว่างก่อสร้างด้วย

แต่ในส่วนของการพัฒนาโครงข่าย 5จี ในครั้งนี้ ทั้งการกำหนดเงื่อนไข กระบวนการประมูลคลื่น 5จี ที่ก่อนหน้านี้ ในการสัมมนาโร้ดแม็พ 5จี เลขาธิการ กสทช. เองก็บอกเองว่า ความสำเร็จของการพัฒนาเทคโนโลยี 5จี จะเกิดขึ้นนั้นได้ต้องมาจากความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน และมีความจำเป็นจะต้องรีเซ็ตหรือล้างไพ่เกณฑ์การประมูลใหม่ ถึงขั้นป่าวประกาศนโยบาย อาจกันเงินที่ได้จากการประมูลกลับเข้าไปส่งเสริมหรืออุดหนุนการขยายโครงข่ายของภาคเอกชน เพราะการลงทุน 5จีนั้น ต้องใช้เงินลงทุนสูงมากเกินขีดความสามารถที่เอกชนจะลงทุนได้โดยลำพัง

สิ่งเหล่านี้หายไปไหน? แล้วที่ กสทช. ไปหว่านล้อมให้นายกฯ ตั้ง “คณะกรรมการขับเคลื่อน 5จี แห่งชาติ” ก่อนหน้านั้นจะทำไปเพื่ออะไร หากจะดั้นเมฆยึดแนวทางตัวเองเป็นหลักเช่นนี้!

แค่ได้ชื่อว่าเราเป็นประเทศแรกที่เปิดประมูล 5จี ได้ไม่ได้หมายความว่า จะทำให้เราได้รับการยกย่องเชิดชูว่า มีวิสัยทัศน์จนทำให้นักลงทุนแห่แหนกันมาลงทุน เพราะหากประมูลไปแล้วต้องล้มเหลว หรือบริษัทสื่อสารได้ใบอนุญาตไปแล้วไม่สามารถลงทุนได้จนต้องกลับมารื้อเงื่อนไขลงทุนกันใหม่ แบบทีวีดิจิทัล หรือใบอนุญาต 4จี ก่อนหน้านั้น

ก็สู้โม่แป้งเงื่อนไขให้มันสะเด็ดน้ำก่อนไม่ดีกว่าหรือ ท่านเลขาธิการ กสทช. ที่เคารพ!!!  

ที่มา : http://www.natethip.com/news.php?id=1520

โดย เนตรทิพย์กระพริบข่าวร้อน

www.mitihoon.com