ก.ล.ต. นำเสนอการดำเนินการขับเคลื่อนตามกรอบหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน ณ องค์การสหประชาชาติ กรุงเจนีวา

43

มิติหุ้น-เลขาธิการ ก.ล.ต. นำเสนอการดำเนินการขับเคลื่อนตามกรอบหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน (UNGPs) ในการประชุมประจำปีสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน ณ องค์การสหประชาชาติ กรุงเจนีวา โดยได้นำเสนอผลการดำเนินการของ ก.ล.ต. ในฐานะองค์กรของรัฐ สนับสนุนบริษัทจดทะเบียนร่วมขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึง ESG และสิทธิมนุษยชน ป้องกันความเสี่ยงของธุรกิจ สร้างความน่าเชื่อถือให้ตลาดทุนไทย

เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) นำเสนอการดำเนินการขับเคลื่อนกรอบหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน (UNGPs) ในการประชุมหัวข้อเรื่องธุรกิจและสิทธิมนุษยชนในทวีปเอเชีย – บทเรียน ความท้าทาย และนวัตกรรม ในช่วงที่ 1 “ความคืบหน้าของการดำเนินการภาครัฐต่อแผนปฏิบัติการระดับชาติ (National Action Plan) ว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน และการดำเนินการที่ต่อยอดแผนปฏิบัติการระดับชาติ” ร่วมกับผู้แทนจากประเทศญี่ปุ่น อินโดนีเซีย อินเดีย ปากีสถาน และเนปาล โดยมี Professor Dr.Surya Deva สมาชิกคณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชนกล่าวนำหลักการและข้อสังเกต โดยเน้นหลักการสร้างความรับรู้ การอบรม และการทำงานร่วมกันกับทุกภาคส่วน และมี Mr. Livio Sarandrea ที่ปรึกษาด้านธุรกิจและสิทธิมนุษยชนจากสำนักงานโครงการสหประชาชาติเพื่อการพัฒนา (UNDP) ประจำภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก เป็นผู้ดำเนินรายการ

เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวขอบคุณคณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชนและ UNDP ที่เชิญให้ ก.ล.ต. มานำเสนอความคืบหน้าการดำเนินการขับเคลื่อนตามกรอบหลักการชี้แนะฯ ที่เน้นการคุ้มครอง (Protect) การเคารพ (Respect) และการเยียวยา (Remedy) กับบริษัทจดทะเบียน โดยได้กล่าวว่า ก.ล.ต. มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมเป็นหน่วยงานขับเคลื่อนเรื่องนี้ในแผนปฏิบัติการระดับชาติ (National Action Plan) ว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน ที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2562 ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศแรกในทวีปเอเชียที่สามารถผลักดันให้มีแผนปฏิบัติการดังกล่าวได้

การปฏิบัติการตามกรอบหลักการชี้แนะฯ เป็นเรื่องที่สอดคล้องกับหลักการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลที่ดี (ESG) และการพัฒนาตลาดทุนไทยไปสู่ความยั่งยืนและกรอบเป้าหมายของความยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals: SDGs) และยังสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และแผนพัฒนาตลาดทุน และถือว่าเป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งของภาคธุรกิจและบริษัทจดทะเบียนที่ต้องคำนึงถึง ด้วยเห็นว่าเป็นเรื่องที่สอดคล้องกับ หน้าที่ของกรรมการและผู้บริหารบริษัทที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความระมัดระวัง (fiduciary duty) และหลักการบริหารจัดการความเสี่ยงของบริษัท เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดข้อพิพาทหรือความเสี่ยงต่อบริษัท เช่น ความเสี่ยงต่อชื่อเสียง

ที่ผ่านมา ก.ล.ต. ได้ร่วมดำเนินการเรื่องนี้ด้วยการเข้าร่วมการสัมมนาที่จัดโดยกระทรวงยุติธรรมและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เมื่อเดือนพฤษภาคม 2560 โดยมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานในพิธี และ ก.ล.ต. เริ่มต้นขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรมจากการลงนามในความร่วมมือกับ กสม. เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2562 โดยการดำเนินการของ ก.ล.ต. ในเรื่องนี้ครอบคลุม 4 เรื่องหลัก คือ (1) การสร้างความรับรู้ให้กับบริษัทจดทะเบียน (2) การจัดการอบรมให้กับผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของบริษัทจดทะเบียน และ ก.ล.ต. จะร่วมดำเนินการกับสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (3) การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่าง ก.ล.ต. อาเซียน และ (4) การนำกรอบหลักการชี้แนะฯ ไปสู่ภาคปฏิบัติ

นอกจากนี้ เลขาธิการ ก.ล.ต. ยังกล่าวถึงประเด็นการเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใส ถือเป็นอีกเรื่องที่มีความสำคัญสำหรับบริษัทจดทะเบียน ซึ่ง ก.ล.ต. ได้ปรับปรุงให้สามารถนำเอาข้อมูลการปฏิบัติที่เกี่ยวกับ ESG และสิทธิมนุษยชน มาเปิดเผยในรายงานประจำปี ตามโครงการ One Report ได้ เพื่อนำไปสู่เป้าหมายการเติบโตอย่างยั่งยืน

ในช่วงท้าย เลขาธิการ ก.ล.ต. ได้กล่าวย้ำความตั้งใจที่จะร่วมขับเคลื่อนเรื่องธุรกิจและสิทธิมนุษยชนตามกรอบหลักการชี้แนะฯ ตามที่แผนปฏิบัติการระดับชาติ (National Action Plan) ว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน ได้ระบุให้ ก.ล.ต. เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ โดยพร้อมที่จะทำงานกับภาคเอกชน และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งคณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน และ UNDP