สิงห์ เอสเตท ได้รับคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในบริษัทที่มีชื่ออยู่ใน “หุ้นยั่งยืน” ประจำปี 2562

67

มิติหุ้น- นายนริศ เชยกลิ่น ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) รับมอบโล่แสดงความยินดี จากคุณปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา ประธานคณะทำงานเพื่อการลงทุนอย่างยั่งยืน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในโอกาสที่ บมจ.สิงห์ เอสเตท ได้รับการคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในบริษัทที่มีชื่ออยู่ใน “หุ้นยั่งยืน” หรือ Thailand Sustainability Investment (THSI) ประจำปี 2562 ในกลุ่มบริษัทจดทะเบียนใน SET ที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด ระหว่าง 10,000 – 30,000 ล้านบาท ประเภทอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง ในงาน “SET Awards 2019” ณ อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ถนนรัชดาภิเษก  เมื่อเร็วๆ นี้

โดยครั้งนี้นับเป็นปีแรกที่ สิงห์ เอสเตท ได้ร่วมตอบแบบประเมินความยั่งยืนของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและได้รับการคัดเลือกในปีเดียวกันนี้ ซึ่งที่ผ่านมา สิงห์ เอสเตท มุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจด้วยหลักปรัชญาการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่คำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ บริษัทฯ ได้นำแนวคิดเรื่องความสมดุลของการอยู่ร่วมกัน (Harmonious Co-Existence) ระหว่าง ธุรกิจ ชุมชน และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการสร้างและนำองค์ความรู้ (Body of Knowledge) มาใช้การดำเนินธุรกิจ พร้อมสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ (Climate change) ผ่านโครงการ #SeaYouTomorrow และมีแผนขยายองค์ความรู้สู่กลุ่มเยาวชนและสังคมผ่านโครงการต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในปี 2563 อาทิ โครงการแลกเปลี่ยนเยาวชนในชุมชนหมู่เกาะพีพีและชุมชนในจังหวัดเชียงราย การเข้าร่วมโครงการวิภาวดีไม่มีขยะ จัดทำเว็บไซต์ SeaYouTomorrow ที่เน้นการเป็นคลังความรู้ด้านความยั่งยืนของทรัพยากรทางทะเล รวมถึงเปิดศูนย์เรียนรู้ทางทะเลที่โรงแรมสันติบุรี สมุย นอกจากนี้ในปี 2563 บริษัทจะมุ่งเน้นการดำเนินงานที่คำนึงถึงผลกระทบและรับผิดชอบในกระบวนการธุรกิจ (SD-in-process) ที่เหมาะสมกับแต่ละลักษณะธุรกิจมากยิ่งขึ้น โดยตั้งเป้าจะเข้าร่วมเป็นหนึ่งในสมาชิกดัชนี Dow Jones Sustainability Indices: DJSI ตามแผนระยะยาวของบริษัท

อย่างไรก็ตาม รายชื่อหุ้นยั่งยืน ได้จัดทำโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2558 โดยรายชื่อหุ้นยั่งยืนคัดเลือกจากบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่เข้าร่วมตอบแบบประเมินความยั่งยืน ซึ่งครอบคลุมมิติเศรษฐกิจ (รวมบรรษัทภิบาล) สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งเน้นวัดผลในด้านกระบวนการดำเนินงานด้านความยั่งยืน ซึ่งประกอบด้วยการกำหนดนโยบาย การตั้งเป้าหมาย การนำนโยบายไปปฏิบัติ การวัดผลลัพธ์จากการดำเนินการ และการเปิดเผยข้อมูลของบริษัท ซึ่ง บจ.ที่ได้รับคัดเลือกให้อยู่ในรายชื่อหุ้นยั่งยืนต้องมีคะแนนผ่านร้อยละ 50 ในทุกมิติ และผ่านเกณฑ์คุณสมบัติที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ กำหนด เช่น การประเมินคุณภาพรายงานด้านบรรษัทภิบาล (CGR) ผลประกอบการด้านกำไรสุทธิและส่วนของผู้ถือหุ้น การกำกับดูแลในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับคุณสมบัติของ บจ. และการไม่สร้างผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล เป็นต้น