CPW ผนึก Vnet Capital เปิดโฉมห้องสมุดโลกนิทานของหนูแห่งที่ 12 มอบให้โรงเรียนบ้านทุ่ม (ทุ่มประชานุเคราะห์)  จ.ขอนแก่น

302

มิติหุ้น – บมจ.คอปเปอร์ ไวร์ด ร่วมกับ บจก.วีเน็ท แคปปิทอล จัดกิจกรรมเพื่อสังคม มอบห้องสมุดโลกนิทานของหนูแห่งที่ 12 ให้กับโรงเรียนบ้านทุ่ม (ทุ่มประชานุเคราะห์) ที่สุดของจินตนาการเพียงหนึ่งเดียวในจังหวัดขอนแก่น บนพื้นที่ 300 ตร.ม. พร้อมหนังสือนิทานและการ์ตูนวิชาการสำหรับเด็กกว่า 6,000 เล่ม

นายปรเมศร์ เหรียญเจริญสุข ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คอปเปอร์ ไวร์ด จำกัด (มหาชน)  หรือ CPW ผู้นำธุรกิจค้าปลีกสินค้าประเภทดิจิทัลไลฟ์สไตล์ โดยจำหน่ายสินค้าภายใต้ชื่อร้าน .life (ดอทไลฟ์), iStudio by copperwired, U-store by copperwired, Ai_ (เอไอ) และศูนย์บริการซ่อมแซมผลิตภัณฑ์ Apple ที่มีชื่อว่า iServe เปิดเผยว่า CPW ร่วมกับ บริษัท วีเน็ท แคปปิทอล จำกัด นำทีมผู้บริหารระดับสูง และพนักงาน  ร่วมพิธีเปิดห้องสมุดโลกนิทานของหนูแห่งที่ 12  ณ โรงเรียนบ้านทุ่ม (ทุ่มประชานุเคราะห์) อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น
การสร้างห้องสมุดโลกนิทานของหนูแห่งที่ 12 ณ โรงเรียนบ้านทุ่ม บริษัท คอปเปอร์ ไวร์ด จำกัด (มหาชน) หรือ CPW และบริษัท วีเน็ท แคปปิทอล จำกัด  ได้มอบงบประมาณสนับสนุน บนพื้นที่ 300 ตารางเมตร ภายในบรรจุหนังสือนิทานและการ์ตูนวิชาการกว่า 6,000 เล่ม จัดเรียงบนชั้นวางหนังสือที่ออกแบบอย่างประณีตและเป็นเอกลักษณ์ โดยใช้โปรแกรมระบบห้องสมุดอัตโนมัติของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (OBEC Library Automation) ในการบันทึกข้อมูลหนังสือและเก็บสถิติการเข้าใช้ห้องสมุดของนักเรียน มีโรงละครหุ่นมือ เวทีการแสดง ตัวต่อเลโกเสริมทักษะ ไอแพด (iPad) สำหรับให้นักเรียนสืบค้นข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต ชุดคอมพิวเตอร์ สำหรับครูบรรณารักษ์  โทรทัศน์ และอุปกรณ์จำเป็นอื่น ๆ ครบถ้วนตามหลักของห้องสมุด 3 ดีที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด
“บริษัทฯ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมทั้งทางตรง และทางอ้อม เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับสังคม  โครงการโลกนิทานของหนู คือ หนึ่งในกิจกรรมเพื่อตอบแทนสังคมของบริษัท คอปเปอร์ ไวร์ด จำกัด (มหาชน) และ บริษัท วีเน็ท แคปปิทอล จำกัด  ก่อตั้งขึ้นตามเจตนารมณ์ของ คุณณรงค์ อิงค์ธเนศ ประธานบริหารและผู้ก่อตั้งบริษัท วีเน็ท แคปปิทอล จำกัด ที่ต้องการส่งเสริมให้เด็กไทยมีนิสัยรักการอ่าน มีจินตนาการที่กว้างไกล และรู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ โดยเห็นว่าการปลูกฝังนิสัยรักการอ่านควรเริ่มตั้งแต่ยังเป็นเด็ก และการใช้หนังสือนิทานเป็นสื่อคือจุดเริ่มต้นที่ดีที่สุด เพราะหนังสือนิทานส่วนใหญ่มีเนื้อหาสร้างสรรค์ มีสีสันสวยงาม และเต็มไปด้วยจินตนาการ เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพต่อไปในอนาคตได้เป็นอย่างดี จึงริเริ่มโครงการนี้ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2549” นายปรเมศร์ กล่าว

www.mitihoon.com