JWD ไฮซีซั่นดันQ4พีคแรง ทั้งปีฟันกำไร340ล้าน (25/11/62)

213

มิติหุ้น-JWD แย้มไตรมาส 4/62 กำไรสุดพีค 90-100 ล้านบาท เหตุช่วงไฮซีซั่นหนุน แถมหมดภาระการขาดทุนจาก OAI ส่วน JCS มีลูกค้ารายใหญ่เริ่มเข้าเป็นไตรมาสแรก และบริษัทย่อย CJ- JWD ฮุบงานใหม่ขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนให้กับ OSP มั่นใจทั้งปี 62 กำไรนิวไฮที่ 340 ล้านบาท โต 38.6% แนะนำ “ซื้อ”เป้า 12 บาท

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ.เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ หรือ JWD ทำธุรกิจให้บริการทางด้านโลจิสติกส์และซัพพลายเชนแบบครบวงจรภายในภูมิภาคอาเซียน ครอบคลุมประเทศ ไทย ลาว กัมพูชา พม่า เวียดนาม อินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย โดย “นายธีรถนัตถ์ จินดารัตน์นักวิเคราะห์ บล.หยวนต้า เผยว่า แนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 4/62 คาดกำไรสุทธิจะทำนิวไฮระดับ 90-100 ล้านบาท

ไฮซีซั่นหนุนQ4พีค

เนื่องจากเข้าสู่ช่วง High season ของธุรกิจทั้ง Long Feng –คลังควบคุมอุณหภูมิ-ลานสินค้าอันตราย-TMS 4 รวมถึงการขายหุ้นทั้งหมด “บ.โอเชี่ยน แอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล หรือ OAI” ซึ่งดำเนินธุรกิจตัวแทนขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ทางทะเล ทางอากาศ (Freight Forwarding)ทำให้ไม่มีส่วนแบ่งขาดทุนจาก OAI อีก จากปกติขาดทุนราว 1.2 ล้านบาท/ไตรมาส

ขณะที่คลังควบคุมอุณหภูมิใหม่รับรู้รายได้เต็มไตรมาส ทำให้ GPM กลับมาเป็นปกติ  ไม่เพียงเท่านั้น JCS (คลังสินค้าทั่วไปที่ปรับเป็นคลังสินค้าเคมี) มีลูกค้ารายใหญ่เริ่มเข้ามาใช้เป็นไตรมาสแรก และ บริษัทย่อย CJ- JWD (ถือหุ้น 49%) ได้งานใหม่เป็นงานขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนให้กับ OSP เพิ่งรับรู้รายได้เต็มที่  ดังนั้นทั้งปี 62 คาดกำไรสุทธิทำนิวไฮที่ 340 ล้านบาท เติบโต 38.6% จากปีก่อน

ส่วนปี 63 คาดกำไรสุทธิทำนิวไฮต่อเนื่องแตะที่ 428 ล้านบาท เติบโต 25.8% จากปีก่อน ภายใต้สมมติฐาน 1.คลังสินค้าควบคุมอุณหภูมิเพิ่มอัตราการเช่าพื้นที่ขึ้นจาก 73% เป็น 78% (หลัง 3Q62 ทำได้ 73% แล้ว) และเพิ่ม GPM จาก 37% เป็น 41%, 2.ปรับประมาณการรายได้ธุรกิจอาหารในไตัหวันขึ้น 23% เป็น 800 ล้านบาท, 3. รวมรายได้จากธุรกิจ Barge Terminal อีก 90 ล้านบาท และมีกำไรก่อนภาษีที่ 20 ล้านบาท

ทุ่มพันล.รุกดีล M&A

อีกทั้ง 4. ปรับเพิ่มดอกเบี้ยจ่ายและค่าเสื่อมราคาจากการที่บริษัทมีแผนลงทุนอีกราว 1,000 ล้านบาท เพื่อทำดีล M&A เพิ่มเติมซึ่งจะรู้ผลภายในปี 63 ,อาจต้อง Tender offer TMS หากซื้อหุ้นเพิ่มจนแตะ 25%, ขยายคลังควบคุมอุณหภูมิแห่งใหม่อีกราว 300 ล้าบาท หลังคลัง 8 เต็มเร็วภายใน 3 เดือน

ขณะที่ 5.ปรับเพิ่มหนี้สินในงบดุลขึ้น 2,000 ล้านบาท เพื่อสะท้อนมาตรฐารการบัญชีใหม่ และเงินกู้เพื่อเงินลงทุนอีก 1,000 ล้านบาท ทำให้ DE ratio เพิ่มขึ้นเป็น 1.8x จากเดิม  0.9x และดอกเบี้ยจ่ายเพิ่มขึ้น 17% และ 6.ปรับเพิ่มค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 20 ล้านบาท (รวมดอกเบี้ยจ่าย) จากผลของมาตรฐานการบัญชีใหม่  โดยแนะนำ “ซื้อ” เป้าหมายที่ 12 บาท