ราช กรุ๊ป ร่วมทุน ติงส์ ออน เน็ต ซื้อหุ้น 35% มูลค่า 180 ล้านบาท ปูทางสู่ธุรกิจ IoT สร้างการเติบโตจากนโยบายไทยแลนด์ 4.0

62

มิติหุ้น- บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เดินหน้าขยายการลงทุนระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานตามยุทธศาสตร์ระยะยาว ล่าสุดบริษัทฯ ประสบความสำเร็จในการร่วมทุนกับ บริษัท ติงส์ ออน เน็ต จำกัด ด้วยการเข้าถือหุ้น 35% มูลค่า 180 ล้านบาท เปิดทางให้บริษัทฯ เข้าสู่ธุรกิจโครงข่าย Internet of Things (IoT) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีพื้นฐานที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และมีศักยภาพการลงทุนสูงมาก

นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าความสำเร็จครั้งนี้ เป็นอีกก้าวในการขยายฐานธุรกิจระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานตามแผนยุทธศาสตร์ โดยบริษัทฯ วางเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานและอื่นๆ ไม่น้อยกว่า 20% ของเงินลงทุนโครงการ การร่วมทุนครั้งนี้ ส่งผลให้บริษัทฯ ได้สิทธิร่วมลงทุนในโครงการติดตั้งและพัฒนาเครือข่ายสื่อสารโทรคมนาคมและการบริการ IoT กับบริษัท ติงส์ ออน เน็ต จำกัด ซึ่งมีเป้าหมายที่จะขยายติดตั้งสถานีโครงข่าย (Base Station) ให้ครอบคลุมพื้นที่ 70%ของประเทศ และผู้ใช้บริการโครงข่าย IoT เทคโนโลยีของ Sigfox ครอบคลุม 85% ของประชากรทั้งประเทศในปี 2563

“บริษัทฯ มีความยินดีที่ได้ร่วมมือเป็นพันธมิตรกับติงส์ ออน เน็ต ซึ่งทำให้บริษัทฯ ก้าวเข้าสู่ธุรกิจโครงข่าย IoT อย่างมั่นใจ บริษัทฯ เล็งเห็นว่า ธุรกิจ IoT จะช่วยขยายฐานธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการผลิตไฟฟ้าและพลังงาน ซึ่งเป็นธุรกิจหลัก รวมทั้งโครงข่ายสายสื่อสารใยแก้วนำแสงของบริษัทฯ ได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ โอกาสทางธุรกิจยังมีศักยภาพเติบโตสูงมาก เนื่องจากความต้องการของภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ที่จะยกระดับประสิทธิภาพการผลิต บริหารต้นทุน และซัพพลายเชน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและลดความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีแบบเฉียบพลัน ตลอดจนตอบสนองนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่จะพัฒนาไปสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัลโดยการขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม มุ่งเน้นการเพิ่มมูลค่า (Value Added) ไปสู่การสร้างมูลค่า (High Value) หรือการสร้างผลิตภาพ (Productivity) นั่นเอง” นายกิจจา กล่าว

บริษัท ติงส์ ออน เน็ต จำกัด เป็นผู้ถือสิทธิการให้บริการโครงข่าย Sigfox รายเดียวในประเทศไทย โดยโครงข่าย Sigfox เป็นเทคโนโลยีการเชื่อมต่อผ่านโครงข่ายแบบกำลังส่งต่ำบริเวณกว้าง (Low Power Wide Area Network: LPWAN) มีเครือข่ายครอบคลุมมากกว่า 50 ประเทศทั่วโลก