พลัสฯ หนุนมาตรการกระตุ้นอสังหาฯภาครัฐ ชี้เป้าทำเลศักยภาพโครงการไม่เกิน 3 ลบ.

49

มิติหุ้น – พลัส พร็อพเพอร์ตี้ ผู้เชี่ยวชาญที่พร้อมตอบโจทย์ทุกบริการด้านอสังหาริมทรัพย์ เผยลายแทงทำเลที่อยู่อาศัยศักยภาพในราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท เอาใจคนอยากซื้อบ้านหลังภาครัฐออกมาตรการกระตุ้นลดค่าธรรมเนียมการโอน-จดจำนองเหลือ 0.01% มองเป็นการกระตุ้นในระดับราคาที่สมเหตุสมผล ชี้ทาวน์โฮมทำเลกรุงเทพฯ ตอนเหนือ และตะวันตกโดดเด่น ด้านคอนโดมิเนียมน่าสนใจเหตุกระจายอยู่ในหลายพื้นที่ของแนวรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย ส่วนบ้านเดี่ยวแม้จะเหลือน้อยแต่ยังพอมีอยู่ เชื่อช่วยกระตุ้นกำลังซื้อระดับกลุ่มคนทั่วไป กลุ่มคนเริ่มทำงาน และกลุ่มผู้ปกครองซื้อให้บุตรหลายศึกษาเล่าเรียนเข้าถึงได้ง่ายขึ้น

นางสาวสุวรรณี มหณรงค์ชัย รองกรรมการผู้จัดการสายงานพัฒนากลยุทธ์และบริหารสินทรัพย์ บริษัท พลัส พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ผู้เชี่ยวชาญที่พร้อมตอบโจทย์ทุกบริการด้านอสังหาริมทรัพย์เปิดเผยว่า จากการที่รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ลดภาระให้กับผู้ซื้อที่อยู่อาศัย เพื่อสนับสนุนและบรรเทาภาระให้แก่ประชาชนที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ด้วยการลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนการโอนจากเดิม 2% เหลือ 0.01% และลดค่าธรรมเนียมการจดจำนองอสังหาริมทรัพย์จากเดิม 1% เหลือ 0.01% สำหรับการซื้อขายที่อยู่อาศัยที่ดินพร้อมอาคารหรือห้องชุดราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อหน่วย และจะต้องจดทะเบียนการโอน จดจำนองอสังหาริมทรัพย์ในคราวเดียวกัน ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2562 ถึงวันที่ 24 ธันวาคม 2563 ตลอดจนมาตรการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เพื่อสนับสนุนสินเชื่อที่อยู่อาศัยให้แก่ประชาชนด้วยอัตราดอกเบี้ยพิเศษ 2.5% คงที่ 3 ปี วงเงิน 50,000 ล้านบาท มองว่าการออกมาตรการดังกล่าว มีส่วนกระตุ้นกำลังซื้อในช่วงปลายปีให้คึกคักและมีความสมเหตุสมผลในระดับราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นวงเงินมากกว่ามาตรฐานครั้งก่อนที่ออกมา

จากการสำรวจของฝ่ายวิจัยและพัฒนาของพลัสฯ ในช่วงครึ่งปีแรก พบว่า ในส่วนของที่อยู่อาศัยที่เหลือขายในช่วงนี้ซึ่งมีระดับราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีทั้งสิ้น 47,941 ยูนิต หรือคิดเป็น 32% ของที่อยู่อาศัยที่เสนอขายทั้งหมดที่มี 150,238 ยูนิต โดยที่อยู่อาศัยราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท สามารถแบ่งออกเป็น บ้านเดี่ยว 48 ยูนิต คิดเป็นหรือ 0.10% ซึ่งถือว่ามีจำนวนน้อยมาก ถัดมาคือทาวน์โฮม จำนวน 12,467 ยูนิต หรือคิดเป็น 26% และคอนโดมิเนียม 35,426 ยูนิต คิดเป็นสัดส่วน 73% สำหรับโซนที่มีที่อยู่อาศัยราคาน้อยกว่า 3 ล้านบาท ที่น่าสนใจได้แก่ บริเวณกรุงเทพตอนเหนือ เช่น ปทุมธานี ลาดหลุมแก้ว และบริเวณกรุงเทพตะวันตก เช่น บางบัวทอง-ไทรน้อย ศาลายา-บางใหญ่-นนทบุรี ถือว่าเป็นเขตที่มีทาวน์โฮม ราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาทเหลือขายอยู่เป็นจำนวนมาก ส่วนคอนโดมิเนียมราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาทพบมากในโซนชานเมืองที่มีรถไฟฟ้า เช่น บริเวณรถไฟฟ้าสายสีม่วง พัฒนาการ-รามคำแหง สาทร ตากสิน – ธนบุรีสะพานใหม่ และรังสิต

“ที่อยู่อาศัยในระดับราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทถือว่ามีความน่าสนใจเพราะเป็นระดับราคาที่ผู้ซื้อเป็นกลุ่มคนทั่วไป กลุ่มคนเริ่มทำงาน ผู้ปกครองที่ซื้อให้บุตรหลานในวัยศึกษาเล่าเรียน สามารถเข้าถึงได้ นอกจากนี้หากในอนาคตต้องการปล่อยเช่า ยังเป็นตลาดที่สามารถปล่อยเช่าให้กลุ่มคนทั่วไปได้เพราะราคาไม่สูงเกินไป โดยส่วนใหญ่อัตราเช่าเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 12,000 – 14,000 บาทต่อเดือน สามารถให้ผลตอบแทนการปล่อยเช่า (Rental Yield) อยู่ที่ประมาณ 4.5% ต่อปี การออกมาตรการของรัฐบาลครั้งนี้ถือว่าตอบโจทย์ความต้องการของตลาดที่กำลังซื้อระดับทั่วไปเริ่มชะลอมาหลายปี โดยจะเห็นว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการจะเลี่ยงไปออกโครงการในระดับลักซ์ชัวรี่ที่ไม่ได้รับผลกระทบมากนักจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว นอกจากนี้ยังมองว่ามาตรการนี้จะมีส่วนช่วยผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อย่างทั่วถึง โดยเฉพาะรายเล็กที่เน้นพัฒนาโครงการขนาดเล็กในราคาระดับไม่เกิน 3 ล้านบาท” นางสาวสุวรรณี กล่าว