SCC ผนึกจีนตั้งศูนย์ ‘SCG-CAS ICCB’ ทุ่ม 500 ลบ. ดึง 5 นวัตกรรมเด่นตอบโจทย์ลูกค้า

174
ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย หรือ  SCC ดำเนินธุรกิจการลงทุนใน 3 ธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ธุรกิจเคมีคอลส์ และธุรกิจแพคเกจจิ้ง โดยนายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เปิดเผยว่า เอสซีจี จับมือร่วมกับ สำนักงานนวัตกรรมและความร่วมมือ (กรุงเทพ) สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน เพื่อร่วมกันพัฒนาและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมใน 5 อุตสาหกรรม คือ เมืองอัจฉริยะ, ปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์, เคมีภัณฑ์มูลค่าสูง, ธุรกิจพลังงานใหม่ และสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน
โดยได้จัดตั้งศูนย์ความร่วมมือ “SCG-CAS ICCB Innovation Hub” เป็นครั้งแรกในไทย และนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ การร่วมวิจัยและพัฒนานวัตกรรม การพัฒนาบุคลากร และการร่วมมือด้านการลงทุน ซึ่งมุ่งสานต่อกลยุทธ์นวัตกรรมเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน และผลักดันนวัตกรรมภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมไทย-จีน ตอบโจทย์ตลาดและเทรนด์ธุรกิจในอนาคต ด้วยมูลค่าโครงการเริ่มต้นกว่า 100 ล้านหยวน หรือประมาณ 500 ล้านบาท
ทั้งนี้ ปี 2561 ที่ผ่านมา เอสซีจีมียอดขายสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม (High Value Added Products & Services – HVA) มากถึง 184,965 ล้านบาท หรือคิดเป็น 39% ของยอดขายรวม โดยทุ่มงบวิจัยและพัฒนานวัตกรรมกว่า 4,674 ล้านบาท คิดเป็น 1% ของยอดขายรวม
สำหรับความร่วมมือระหว่างเอสซีจี กับสำนักงานนวัตกรรมและความร่วมมือ (กรุงเทพ) สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน ดังกล่าว ประกอบด้วย
1.) การจัดตั้งศูนย์ความร่วมมือ “SCG-CAS ICCB Innovation Hub” ณ อาคาร INC2 Tower D สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จังหวัดปทุมธานี โดยพัฒนา Open Innovation Center ของเอสซีจีบางส่วนซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นแหล่งในการสร้างความร่วมมือกับภายนอก ให้เป็นพื้นที่สำหรับการจัดแสดงผลงานนวัตกรรม การจัดประชุมสัมมนาทางวิชาการ รวมถึงพื้นที่ห้องทดลองเพื่อทำวิจัยและพัฒนาต่อยอด และพื้นที่สำนักงาน ทั้งสำหรับการพัฒนานวัตกรรมร่วมกันระหว่างเอสซีจีกับ CAS และสำหรับนักวิจัยจาก CAS โดยเฉพาะ
นอกจากนี้ พื้นที่ดังกล่าวยังเปิดกว้างสำหรับการบ่มเพาะธุรกิจและการทดลองเชิงพาณิชย์ (Startup incubation and acceleration) เพื่อสนับสนุนสตาร์ทอัพจากจีนที่มีศักยภาพและสนใจมาทำธุรกิจในอาเซียนร่วมกับเอสซีจี ทั้งในรูปแบบของการให้คำปรึกษา การทำโครงการร่วมกัน หรือการทดลองใช้นวัตกรรมเพื่อขยายตลาด เป็นต้น
2.) การนำเทคโนโลยีที่พัฒนาแล้วเบื้องต้นมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์กับประเทศไทย ผ่านการถ่ายทอดและอนุญาตให้ใช้สิทธิในเทคโนโลยี (Technology Transfer and Licensing) ทั้งในรูปแบบการนำเทคโนโลยีที่ CAS หรือเครือข่ายสตาร์ทอัพของ CAS มีอยู่มาประยุกต์ใช้ในด้านอื่นหรือพัฒนาเป็นโซลูชันใหม่ของเอสซีจี และการขออนุญาตใช้สิทธิในเทคโนโลยีหรือทรัพย์สินทางปัญญาของ CAS ที่มีความจำเพาะเพื่อนำมาพัฒนานวัตกรรมต่อไป เช่น การนำเทคโนโลยี sensor / IoT ของ CAS มาใช้สร้างเป็นโซลูชันต่าง ๆ ของเอสซีจี เช่น Smart building หรือ Plant reliability monitoring เป็นต้น
3.) การร่วมวิจัยและพัฒนานวัตกรรม (Joint Research Project) เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่สอดคล้องกับความต้องการของแต่ละกลุ่มธุรกิจของเอสซีจี โดยนักวิจัยจากแต่ละกลุ่มธุรกิจของเอสซีจีกับนักวิจัยจาก CAS
4.) การเป็นแหล่งบ่มเพาะเพื่อพัฒนาบุคลากรของประเทศไทยและจีน ผ่านการอบรมเฉพาะทาง การศึกษาขั้นสูง หรือการเรียนในหลักสูตรระยะสั้น ทั้งในรูปแบบของการแบ่งปันความรู้ในหัวข้อเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมด้านต่าง ๆ และการจัดเวิร์คช็อปในเรื่องที่น่าสนใจ โดยผู้เชี่ยวชาญจากเอสซีจี หรือ CAS หรือเครือข่ายความร่วมมืออื่น ๆ
5.) การสร้างความร่วมมือด้านการลงทุน เพื่อแสวงหาโอกาสในการลงทุนในกองทุนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์สูงในประเทศจีน หรือศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมร่วมกันในภูมิภาคอาเซียน
www.mitihoon.com