GUNKUL งานวิ่งชนไม่เลิกคว้าโซลาร์รูฟ กำลังผลิต 3.99 MW

78

มิติหุ้น- GUNKUL แรงไม่เลิก งานวิ่งชน ล่าสุดคว้างานก่อสร้างระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop) จาก “มูราตะ อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย)” กำลังการผลิตติดตั้งรวม  3.99 เมกะวัตต์ หนุนกำลังการผลิตไฟฟ้าในมือเพิ่มขึ้น    “โศภชา ดำรงปิยวุฒิ์” ระบุพร้อมลุยยื่นประมูลโปรเจคใหม่อย่างต่อเนื่อง ดันผลการดำเนินงานในอนาคตเติบโตมากยิ่งขึ้น   

นางสาวโศภชา ดำรงปิยวุฒิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท กันกุล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) (GUNKUL)  เปิดเผยว่า  บริษัทฯ ได้ร่วมลงนามในสัญญาโครงการก่อสร้างระบบผลิตพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา (Solar PV Rooftop) กับ บริษัท มูราตะ อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 3.99 เมกะวัตต์  ซึ่งตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จ.ลำพูน โครงการนี้ใช้ระยะเวลาก่อสร้างให้แล้วเสร็จ 240 วัน สำหรับโครงการนี้บริษัทกันกุลฯ จะเป็นผู้ขายไฟฟ้าให้กับมูราตะ ตลอดระยะเวลา 15 ปี 

“บริษัท มูราตะ อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกอบธุรกิจผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์คุณภาพสูง ซึ่งอยู่ในเครือ บริษัท มูราตะ แมนูแฟคเจอริ่ง ประเทศญี่ปุ่น โดยเครือบริษัทฯ มีการดำเนินนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก CO2 อีกทั้งยังมีการดำเนินนโยบายด้านการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ จึงเป็นที่มาของการติดตั้งระบบ solar rooftop ซึ่งในปีที่ผ่านมา GUNKUL ได้ดำเนินการติดตั้งระบบ solar rooftop  เฟสแรก ขนาดกำลังการผลิต 462 KWP บนหลังคาอาคารจอดรถ 5 ชั้นและได้ทำการเปิดการใช้งานไปแล้วเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม จากโครงการนำร่องดังกล่าว ผลออกมาเป็นที่น่าพอใจจึงได้การดำเนินโครงการเฟส 2 ขึ้น มีกำลังผลิตติดตั้ง

รวมทั้ง 2 เฟสประมาณ 4.5 MWp และขอขอบคุณที่ทางบริษัทมูราตะได้ให้ความไว้วางใจให้บริษัท เป็นผู้ดูแลโครงการอย่างต่อเนื่อง  โครงการนี้จะช่วยให้บริษัท มูราตะลดต้นทุนในการผลิตได้เป็นจำนวนมาก และเป็นการส่งเสริมการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน นอกจากนี้ยังมีพื้นที่หลังคาที่ยังมิได้ดำเนินการก่อสร้าง คาดว่าน่าจะมีแผนในการติดตั้ง Solar Rooftop เฟส 3 ต่อไปในอนาคต” นางสาวโศภชากล่าว

ทั้งนี้ บริษัทฯ ยังคงเดินหน้าประมูลงานใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง  โดยมีแผนเข้าประมูลโครงการต่างๆ ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) คิดเป็นมูลค่างานไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท ซึ่งหากได้งานก็จะช่วยสนับสนุนให้งานในมือ (Backlog) มีปริมาณเพิ่มขึ้น และส่งผลให้การดำเนินงานในปีนี้เติบโตได้อย่างมีศักยภาพมากยิ่งขึ้น