บล.ไทยพาณิชย์จับจังหวะการลงทุนในไตรมาส 4/62 เตรียมพร้อมรับแรงกระแทกจากสถานการณ์ภายนอกประเทศ น้ำขึ้นให้รีบตักเพิ่มน้ำหนักเข้าลงทุนในหุ้นวัฏจักร

46

มิติหุ้น-บล.ไทยพาณิชย์จับจังหวะการลงทุนในไตรมาส 4/2562 เตรียมพร้อมรับแรงกระแทกจากผลกระทบต่างประเทศ แม้ความเสี่ยงระดับมหภาคยังคงมีอยู่แต่คาดว่า GDP จะขยายตัวได้เล็กน้อย และผลประกอบการของภาคธุรกิจจะฟื้นตัวใน 1H63 โดยได้รับการสนับสนุนจากการส่งออกที่ฟื้นตัวดีขึ้น การใช้จ่ายภายในประเทศ และการลงทุนภาครัฐและภาคเอกชนที่เร่งตัวขึ้น หุ้นวัฏจักรมีการถือครองน้อย และ valuation น่าสนใจ แนะนำให้มองหาจังหวะสับเปลี่ยนกลุ่มลงทุนมายังหุ้นวัฏจักรภายหลังฤดูประกาศผลประกอบการ และลดน้ำหนักการลงทุนในกลุ่มสาธารณูปโภค REIT และหุ้นปันผลสูง เน้นมองหาหุ้นปลอดภัย (Defensive) มีโมเมนตัมการเติบโตของกำไรใน 3Q62-4Q62 สนับสนุน รวมถึงหุ้นที่มี story เกี่ยวกับการเติบโตอย่างต่อเนื่องจนถึงปี 2563 หาจังหวะเข้าลงทุนในหุ้น top picks กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม (WHA), กลุ่มการแพทย์ (BCH), กลุ่มพาณิชย์ (GLOBAL, CPALL) และกลุ่มขนส่ง (BTS) มองว่าจะปรับตัว outperform ในไตรมาส 4/2562

นายสุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS) กล่าวว่า สถานการณ์ตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่ลดระดับความรุนแรงลงและท่าทีผ่อนคลายนโยบายการเงินของธนาคารกลางทั่วโลกทำให้บรรยากาศ risk-on ปรับตัวดีขึ้น มุมมองเชิงบวกสำหรับปี 2563 แม้ความเสี่ยงระดับมหภาคยังคงมีอยู่ แต่คาดว่า GDP จะขยายตัวได้เล็กน้อย และผลประกอบการของภาคธุรกิจจะฟื้นตัวใน 1H63 โดยได้รับการสนับสนุนจากการส่งออกที่ฟื้นตัวดีขึ้น การใช้จ่ายภายในประเทศ และการลงทุนภาครัฐและภาคเอกชนที่เร่งตัวขึ้น หุ้นวัฏจักรมีการถือครองน้อย และ valuation น่าสนใจ  จากการวิเคราะห์การเคลื่อนไหวของเครื่องชี้เศรษฐกิจหลังจากเกิด inverted yield curve บ่งชี้ว่าภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันอ่อนแอกว่าเมื่อครั้งในปี 2543 และปี 2549 แต่เฟดสามารถรับมือได้เร็วโดยคาดว่าเฟดจะลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 5 ครั้งนับจากนี้ไปจนถึงสิ้นปี 2563  ส่วนเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะยังคงขยายตัวจนถึงปี 2563 แต่จะปรับตัวแย่ลงในปี 2564 และเข้าสู่ภาวะถดถอยในปี 2565 เชื่อว่าการลดอัตราดอกเบี้ยเชิงรุกของเฟดและสงครามการค้าที่ลดระดับความร้อนแรงลงอาจจะทำให้แนวโน้มดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไป และมองว่ามีความเป็นไปได้ 55% ที่จะสามารถหลีกเลี่ยงภาวะถดถอยได้ และจากมาตรการกระตุ้นและการผ่อนคลายนโยบายการเงินของธนาคารกลางอาจจะช่วยสนับสนุนให้ภาวะการเงินปรับตัวดีขึ้น สภาพคล่องและบรรยากาศ risk-on มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น หากสถานการณ์ตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนลดความร้อนแรงลงจะช่วยให้ sentiment ระยะสั้นสดใสขึ้น และคาดว่าความต้องการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงจะเพิ่มขึ้นด้วย

ทั้งนี้ การปรับตัว outperform ของหุ้นคุณค่าในเดือนก.ย. สร้างความกังวลแก่นักลงทุน เนื่องจากการสับเปลี่ยนกลุ่มลงทุนออกจากหุ้นเติบโตและหุ้นปลอดภัยอาจจะส่งผลทำให้ตลาดปรับตัวลดลง ในขณะที่ดูเหมือนว่าจะมีการสับเปลี่ยนกลุ่มลงทุนเล็กน้อยจากหุ้นเติบโตมายังหุ้นคุณค่า การปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันและการฟื้นตัวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลจะเป็นปัจจัยกระตุ้นที่สำคัญ เชื่อว่าเดือนพ.ย. จะเป็นช่วงเวลาที่ดีในการสับเปลี่ยนกลุ่มลงทุน ดังนั้น กลยุทธ์การลงทุนในไตรมาส 4/2562 ยังคงเน้นไปที่หุ้นขนาดใหญ่ สภาพคล่องสูง และปลอดภัย โดยชอบหุ้น domestic play ที่มีโมเมนตัมการเติบโตของกำไรสนับสนุน และหุ้นที่มี story เกี่ยวกับการเติบโตอย่างต่อเนื่องจนถึงปีหน้า และแนะนำให้หลีกเลี่ยงหุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และยานยนต์ โดยมีสาเหตุมาจากเงินบาทแข็งค่าและความต้องการซื้อชะลอตัว  top picks คือ นิคมอุตสาหกรรม (WHA), กลุ่มการแพทย์ (BCH), กลุ่มพาณิชย์ (GLOBAL, CPALL) และกลุ่มขนส่ง (BTS)

  • WHA : มีแนวโน้มที่จะได้รับประโยชน์อย่างมากจากมาตรการกระตุ้นการลงทุนของรัฐบาลซึ่งจะช่วยผลักดันให้ความต้องการอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มขึ้น รวมถึงการเติบโตอย่างรวดเร็วของe-commerce ซึ่งจะช่วยผลักดันให้ความต้องการคลังสินค้าโลจิสติกส์ปรับตัวเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน คาดว่ายอดขายที่ดินของ WHA จะเติบโตที่ CAGR 22%  ในระยะ 3 ปีข้างหน้า และมียอด pre-lease อสังหาริมทรัพย์ให้เช่า 200,000 ตรม.ต่อปี นอกจากนี้ยังมีปัจจัยบวกเพิ่มเติมจากโอกาสเติบโตของธุรกิจสาธารณูปโภคและผลประกอบการไตรมาส 4/2562 ที่แข็งแกร่ง ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยสนับสนุนให้ราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ในระยะสั้น
  • BCH: เป็นหุ้นเด่นอันดับ 1 ในกลุ่มการแพทย์ เนื่องจากผลตอบแทนดูน่าดึงดูดเมื่อเทียบกับความเสี่ยง  ราคาหุ้น BCH ปรับตัวลดลง 6% YTD แย่กว่า SET ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 6% และ CHG ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 21% เพราะถูกฉุดรั้งโดยผลการดำเนินงานที่อ่อนแอของ World Medical Hospital (WMC)  อย่างไรก็ตาม เชื่อว่ากำไรของ BCH ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วและจะปรับตัวดีขึ้นใน 2H62 และเติบโต 16% ในปี 2563 โดยได้รับการสนับสนุนจากการดำเนินงานที่ดีขึ้นของโรงพยาบาลที่ได้รับการปรับปรุงและผลการดำเนินงานที่ฟื้นตัวดีขึ้น
  • GLOBAL: ยังคงมีแนวโน้มเติบโตอย่างแข็งแกร่งใน 2H62 โดยได้รับการสนับสนุนจาก SSS ที่มีอัตราเติบโตเป็นบวกใน 3Q62TD และการขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง อัตรากำไรจะลดลง YoY แต่จะลดลงในอัตราที่น้อยกว่า 1H62 หากบริษัทปรับสินค้าคงคลังเสร็จในปลายไตรมาส 3/2562 – ต้นไตรมาส 4/2562 คาดว่ากำไรของ GLOBAL จะทำจุดต่ำสุดในไตรมาส 3/2562 จากนั้นจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นในไตรมาส 4/2562  และฟื้นตัวในปี 2563 โดยได้รับการสนับสนุนจากอัตรากำไรที่ดีขึ้น GLOBAL เป็นหุ้น laggard มากที่สุดของกลุ่มพาณิชย์ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา เล็งเห็นโอกาสเข้าซื้อสะสมก่อนที่กำไรจะฟื้นตัวตั้งแต่ไตรมาส 4/2562 เป็นต้นไป
  • CPALL: มีแนวโน้มที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ดีกว่าตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับการสนับสนุนจากกำไร 2H62 ที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างแข็งแกร่งจากธุรกิจร้านสะดวกซื้อที่แข็งแกร่ง (SSS มีอัตราเติบโตเป็นบวก และอัตรากำไรเพิ่มขึ้น) และกำไรที่ดีขึ้นจากธุรกิจเคาน์เตอร์เซอร์วิส (การชำระบิล และบริการ banking agent ที่ขยายตัว) และธุรกิจ cash & carry (ราคาอาหารในประเทศปรับตัวขึ้น) การขยายสาขาร้าน 7-eleven ในกัมพูชาและลาวจะช่วยสนับสนุนการเติบโตในระยะยาว
  • BTS: การเจรจาต่อสัมปทานเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวมีความคืบหน้าที่ดี ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ช่วยกระตุ้นให้ราคาหุ้น BTS ปรับตัวขึ้น นอกจากนี้ยังมี upside เพิ่มเติมจากโครงการมอเตอร์เวย์สองสายและสนามบินอู่ตะเภา