BAM ย้ำจุดแข็งผู้นำธุรกิจบริหารสินทรัพย์รายใหญ่ที่สุดของไทย พร้อมเปิด 3 ยุทธศาสตร์สร้างโอกาสทางธุรกิจอย่างยั่งยืน

56

มิติหุ้น-BAM ย้ำความมั่นใจในศักยภาพระยะยาวขององค์กรในฐานะบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของไทย ที่มุ่งมั่นแก้ไขปัญหาหนี้ด้อยคุณภาพ (NPLs) และทรัพย์สินรอการขาย (NPAs) ของประเทศ พร้อมชี้จุดแข็งธุรกิจบริหารสินทรัพย์ที่สามารถสร้างโอกาสทางธุรกิจได้ในทุกภาวะเศรษฐกิจ เดินหน้าด้วย 3 ยุทธศาสตร์หลัก ผลักดันการเติบโตอย่างมั่นคงและต่อเนื่อง

เมื่อเดือนสิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวนต่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) และนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลาดหลักทรัพย์ฯ) โดยหุ้นที่เสนอขายประกอบด้วย หุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 280 ล้านหุ้น หุ้นสามัญเดิมจำนวนไม่เกิน 1,255 ล้านหุ้น และอาจมีการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน (Greenshoe) จำนวนไม่เกิน 230 ล้านหุ้น รวมทั้งสิ้นจำนวนไม่เกิน 1,765 ล้านหุ้น คิดเป็นร้อยละ 54.4 ของจำนวนหุ้นที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังการเสนอขายหุ้นครั้งนี้ (กรณีมีการใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนจากบริษัทฯ ทั้งจำนวน) โดยจะนำเงินจากการระดมทุนไปขยายธุรกิจโดยซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพและทรัพย์สินรอการขายในอนาคต ชำระคืนเงินกู้จากสถาบันการเงิน และ/หรือชำระหุ้นกู้ที่ออกโดยบริษัทฯ และ/หรือตั๋วเงินจ่ายที่ถึงกำหนด และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน

นางทองอุไร ลิ้มปิติ ประธานกรรมการบริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงความมั่นใจในแผนการระดมทุนว่า “BAM เชื่อมั่นในศักยภาพ และจุดแข็งของบริษัทฯ ซึ่งเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ มีประสบการณ์ยาวนานกว่า 20 ปี มีแหล่งเงินทุนที่หลากหลาย ผลประกอบการที่แข็งแกร่ง โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา บริษัทฯ มีกำไรสุทธิต่อเนื่องปีละกว่า 4,500 ล้านบาท มีสินทรัพย์เติบโตเฉลี่ยร้อยละ 7 ต่อปี มีเครือข่ายทั่วประเทศมากที่สุดรวม 26 แห่ง  มีทีมงานประสบการณ์สูง และปัจจัยที่สำคัญคือ ธุรกิจบริหารสินทรัพย์มีโอกาสในทุกภาวะเศรษฐกิจกล่าวคือในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว บริษัทฯ สามารถเลือกซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพได้ในต้นทุนที่เหมาะสม ในช่วงภาวะเศรษฐกิจแข็งแกร่ง ลูกหนี้ของบริษัทฯ มีศักยภาพในการชำระหนี้ และลูกค้าของบริษัทฯ มีกำลังซื้อทรัพย์สินรอการขาย เป็นการสร้างรายได้ให้กับบริษัทฯ”

“การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะช่วยเพิ่มความคล่องตัวในการดำเนินงาน ทำให้บริษัทฯ สามารถระดมทุนและเพิ่มช่องทางในการเข้าถึงเครื่องมือทางการเงินที่หลากหลายมากขึ้น BAM จะสามารถทำหน้าที่เป็นกลไกสำคัญในการแก้ไขปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพในระบบสถาบันการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น” นางทองอุไรกล่าว

*ที่มา: รายงานภาวะอุตสาหกรรมซึ่งจัดทำโดยบริษัท อิปซอสส์ จำกัด

นางทองอุไร กล่าวอีกว่า ธุรกิจการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพ ในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพในระบบธนาคารมีอัตราการเติบโต (CAGR) เฉลี่ยร้อยละ 12.8 ประกอบกับราคาประเมินที่ดินล่าสุดในช่วงสี่ปีที่ผ่านมา มีอัตราการเพิ่มขึ้นเฉลี่ยโดยภาพรวมทั้งประเทศที่ร้อยละ 27.7 (ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย และกรมธนารักษ์) จากโอกาสทางธุรกิจเช่นนี้ BAM ได้กำหนด ยุทธศาสตร์หลักที่จะสานต่อการเติบโตในอนาคต และเพิ่มความแข็งแกร่งให้องค์กร

ยุทธศาสตร์ที่ 1ขยายฐานทรัพย์สิน BAM ติดตามการขาย NPLs และ NPAs อย่างใกล้ชิด เพื่อเพิ่มโอกาสในการขยายสินทรัพย์ และ คัดเลือกสินทรัพย์ ที่มีศักยภาพสูง ซึ่งจะทำให้บริษัทฯ สามารถบริหารต้นทุนการได้มาซึ่งสินทรัพย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ  นอกจากนี้ การที่บริษัทฯ มีสาขาทั่วประเทศ มีพนักงานที่มีประสบการณ์สูงและมีความเข้าใจในตลาดอย่างดี ทำให้บริษัทฯ สามารถประเมินศักยภาพและราคาทรัพย์ได้แม่นยำ

ยุทธศาสตร์ที่ 2: ลดระยะเวลาการดำเนินงานเพื่อสร้างรายได้ให้เร็วขึ้น BAM ให้ความสำคัญกับการเจรจากับลูกหนี้ การปรับปรุงกระบวนการทำงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และการให้ลูกหนี้ผ่อนชำระหนี้ตามกำลังที่สามารถ BAMให้ความสำคัญกับการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้เพื่อให้ได้ข้อตกลงที่เป็นที่พึงพอใจของทุกฝ่ายเท่าที่เป็นไปได้ พร้อมกันนี้ BAM ยังทำการตลาดเชิงรุกโดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย เช่น เว็บไซต์ และช่องทาง Social Media ขององค์กร ฯลฯ

ยุทธศาสตร์ที่ 3: การพัฒนาคนเพื่อเพิ่มศักยภาพองค์กร  BAM เชื่อว่าพนักงานที่มีความสามารถและความเชี่ยวชาญเป็นปัจจัยหลักของความสำเร็จทางธุรกิจ  จึงได้จัดการฝึกอบรมพนักงานทั้งภายในและภายนอกองค์กรเพื่อพัฒนาความสามารถของพนักงาน รวมทั้งมีการเตรียมแผนการสืบทอดตำแหน่งที่ชัดเจน

BAM ประสบความสำเร็จในการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2561 BAM มีกำไรสุทธิรวมที่ 5,202.02 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.58 จากปี 2560

ทั้งนี้ ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งบริษัทฯ จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2562 บริษัทฯ ได้ปิดบัญชีเงินให้สินเชื่อจากการซื้อลูกหนี้ (NPLs) ซึ่งคำนวณจากมูลค่าต้นทุนการซื้อไปแล้วเป็นจำนวน 90,562.65 ล้านบาท โดยสามารถเรียกเก็บเงินสดได้จำนวน 122,931.74 ล้านบาท

ในปี 2561 BAM มีเงินสดรับจากธุรกิจ NPLs และ NPAs รวมทั้งสิ้น 16,569.10 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่ทำได้ 13,515.74 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.59 และมีกำไรสุทธิรวมอยู่ที่ 5,202.02 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่ทำได้ 4,500.82 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.58 ณ วันที่ 31 มีนาคม 2562 BAM มีเงินให้สินเชื่อจากการซื้อลูกหนี้สุทธิ  (NPLs) จำนวน 74,482.33 ล้านบาท ซึ่งหลักประกันของลูกหนี้ดังกล่าวมีมูลค่าอิงตามราคาประเมิน1 187,875.26 ล้านบาท และมีทรัพย์สินรอการขายสุทธิ (NPAs) 21,731.04 ล้านบาท โดยมีมูลค่าอิงตามราคาประเมิน1 50,287.17 ล้านบาท