“GUNKUL” ลงนาม MOU “มหาวิทยาลัยนเรศวร” ร่วมวิจัย/พัฒนานวัตกรรมสมาร์ทกริดเทคโนโลยีและเมืองอัจฉริยะ

112

มิติหุ้น-บมจ. กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง (GUNKUL) ลงนามความร่วมมือ (MOU) กับวิทยาลัยพลังงานทดแทนและสมาร์ทกริดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมวิจัยและพัฒนานวัตกรรมสมาร์ทกริดเทคโนโลยีและเมืองอัจฉริยะ (Smart Grid & Smart City) และเทคโนโลยีพลังงานเกี่ยวเนื่องเพื่อรองรับอุตสาหกรรมพลังงานที่เปลี่ยนไปตามกระแสโลก

นางสาวโศภชา ดำรงปิยวุฒิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท กันกุล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) (GUNKUL)  ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับวิทยาลัยพลังงานทดแทนและสมาร์ทกริดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อพัฒนาองค์ความรู้เรื่องระบบการซื้อขายไฟฟ้าแบบไร้ตัวกลาง หรือ Peer to Peer (P2P) รวมถึงสมาร์ทกริดและองค์ความรู้อื่นๆ เกี่ยวกับพลังงานทดแทน อาทิ ระบบการกักเก็บพลังงานที่ใช้ร่วมกับโครงการพลังงานลมเพื่อเพิ่มคุณภาพไฟฟ้าและโครงการด้านพลังงานที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อรองรับอุตสาหกรรมพลังงานที่เปลี่ยนไปตามแนวโน้มของโลก อันสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของบริษัทฯ ที่เป็นผู้นำด้านธุรกิจพลังงานทดแทนแบบครบวงจรด้วยเทคโนโลยีชั้นนำเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ ความร่วมมือระหว่าง GUNKULและมหาวิทยาลัยนเรศวร ใน MOU ฉบับนี้  จะมีความร่วมมือต่างๆ ดังนี้ 1.วิจัยและพัฒนาซอฟต์แวร์ และ/หรือแอพพลิเคชั่น รวมถึงฮาร์ดแวร์ เพื่อรองรับระบบการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างผู้ใช้ไฟฟ้าแบบไร้ตัวกลาง หรือ Peer to Peer (P2P) รวมถึงการพัฒนา Platform อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ 2.ทดลองและทดสอบระบบที่เกิดจากการวิจัยและพัฒนาร่วมกัน ทั้งในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยนเรศวร พื้นที่ของ GUNKUL และพื้นที่อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และ 3.ร่วมกันเผยแพร่ผลการศึกษา วิจัย และพัฒนาสู่สังคมทั้งในระดับชาติและระบบนาชาติ จากผลของความร่วมมือระหว่าง มหาวิทยาลัยนเรศวร กับ GUNKUL ตามบันทึกข้อตกลงฉบับนี้ แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือระหว่างภาคการศึกษาและภาคเอกชน เพื่อการร่วมมือกันวิจัยและพัฒนานวัตกรรมสมาร์ทกริดเทคโนโลยี เมืองอัจฉริยะ (Smart Grid & Smart City) และเทคโนโลยีด้านพลังงานที่เกี่ยวเนื่อง

 “จากสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีดิจิทัลในปัจจุบัน ได้ส่งผลกระทบต่อรูปแบบธุรกรรมของอุตสาหกรรมพลังงาน การพัฒนาเมือง รวมถึงรูปแบบของการศึกษาอย่างชัดเจนทั้งในระดับชาติและระดับสากลรัฐบาลได้กำหนดนโยบบายการพัฒนาประเทศด้านดิจิทัล โดยมีแผนในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้เพื่อการพัฒนาประเทศในมิติต่างๆ ซึ่งรวมถึงอุตสาหกรรมพลังงาน การพัฒนาเมือง และการศึกษาในทุกระดับชั้น ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้นทั้งสองฝ่ายได้ตระหนักถึงความสำคัญและตกลงที่จะร่วมมือกัน เพื่อศึกษาวิจัย และพัฒนานวัตกรรมสมาร์ทกริดเทคโนโลยีและเมืองอัจฉริยะ (Smart Grid & Smart City) เทคโนโลยีด้านพลังงานทดแทน ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับพันธกิจของทั้งสองหน่วยงานและตอบสนองกับนโยบายของประเทศ” นางสาวโศภชากล่าวในที่สุด