ไทยคม จับมือพันธมิตร ดาวเทียมรัสเซีย พัฒนาโครงข่ายการสื่อสารผ่านดาวเทียมทางทะเล

85

มิติหุ้น – บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการดาวเทียมไทย ประกาศความร่วมมือกับ บริษัท รัสเซีย แซทเทลไลท์ คอมมิวนิเคชั่นส์ (อาร์เอสซีซี) ผู้นำด้านดาวเทียมแห่งรัสเซีย ในการร่วมพัฒนาโครงข่ายโรมมิ่งเพื่อการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตความเร็วสูงทางทะเล

ความร่วมมือระหว่างไทยคมและอาร์เอสซีซีในครั้งนี้ ทั้ง 2 ฝ่ายจะร่วมกันพัฒนาโครงข่ายโรมมิ่งเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและขยายพื้นที่การให้บริการสื่อสารผ่านดาวเทียมทางทะเล และสามารถนำมาใช้ประโยชน์ร่วมกันในน่านน้ำ โดยในส่วนของของไทยคม การโรมมิ่งจะปฏิบัติการบนแพลตฟอร์มบริการ Nava® ซึ่งเป็นบริการ
บรอดแบนด์ผ่านดาวเทียมที่ออกแบบมาโดยเฉพาะ ใช้สื่อสารระหว่างเรือที่ออกไปปฏิบัติการกับชายฝั่ง โดยสามารถเชื่อมต่อทุกคน ทุกที่ ให้สื่อสารกันได้แม้อยู่ในท้องทะเล ในขณะเดียวกัน เครือข่ายบรอดแบนด์ทางทะเลของอาร์เอสซีซี นับได้ว่าเป็นเครือข่ายที่ใหญ่ที่สุดในรัสเซีย สามารถเชื่อมต่อกับเรือเดินทะเลได้มากกว่า 300 ลำ ที่ปฏิบัติงานในน่านน้ำโดยรอบของรัสเซียและยุโรป

นายปฐมภพ สุวรรณศิริ หัวหน้าคณะผู้บริหาร ด้านการค้า บมจ. ไทยคม กล่าวว่า “ไทยคมมุ่งหวังให้ความร่วมมือที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ เป็นจุดเริ่มต้นของการร่วมเป็นพันธมิตรทางธุรกิจที่ยั่งยืนระหว่างไทยคมและอาร์เอสซีซี และจะเป็นก้าวแรกแห่งความสำเร็จในการร่วมกันพัฒนาการสื่อสาร เพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคเอเชียและรัสเซีย ไทยคมขอขอบคุณ บริษัท รัสเซีย แซทเทลไลท์ คอมมิวนิเคชั่นส์ ที่ได้ให้ความไว้วางใจในศักยภาพการเป็นผู้นำด้านการให้บริการสื่อสารทางทะเลของไทยคม ด้วยแพลตฟอร์มบริการ Nava®จากไทยคม จะช่วยส่งเสริมและยกระดับขีดความสามารถในการเชื่อมต่อสัญญาณการสื่อสารแบบไร้รอยต่อบนโครงข่ายโรมมิ่ง ทำให้ลูกค้าสามารถใช้งานบรอดแบนด์ความเร็วสูงได้โดยไม่ติดขัด ตลอดเส้นทางในน่านน้ำของยุโรปและเอเชีย”

Ksenia Drozdova, Deputy Director General, บริษัท รัสเซีย แซทเทลไลท์ คอมมิวนิเคชั่นส์ กล่าวว่า “เรารู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เข้าร่วมเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับไทยคม ในการขยายโครงข่ายดาวเทียม และร่วมกันพัฒนาศักยภาพของการสื่อสารทางทะเลที่ปลอดภัยและเชื่อถือได้ อาร์เอสซีซีจะนำความเชี่ยวชาญด้านเทคนิค และประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจสื่อสารบรอดแบนด์ทางทะเลมาใช้ เพื่อช่วยสนับสนุนการทำงานให้แก่ลูกเรือ รวมถึงการปฏิบัติงานของเรือในท้องทะเลทั้งในน่านน้ำเอเชีย ยุโรป ตะวันออกกลาง และรัสเซียตะวันออกไกลให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น”

www.mitihoon.com