การกลับมาของความเสี่ยงจาก Brexit และนัยต่อเศรษฐกิจไทย

1162
Brexit concept – UK and European flags waving in the wind

ผ่านไป 3 ปีหลังการลงประชามติ Brexit จนถึงปัจจุบัน การเจรจาหาข้อตกลง Brexit ยังไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร และโอกาสที่ UK จะออกจาก EU แบบไร้ข้อตกลง (No-deal Brexit) ได้เพิ่มขึ้นหลังการเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของนายบอริส จอห์นสัน ซึ่งมีจุดยืนที่จะผลักดันให้ UK ออกจาก EU ก่อนเส้นตายวันที่ 31 ตุลาคมนี้

ประเด็นสำคัญของการเจรจาข้อตกลง Brexit คือ การแก้ไขแผน Backstop เรื่องพรมแดนระหว่างไอร์แลนด์เหนือ (ส่วนหนึ่งของ UK) และสาธารณรัฐไอร์แลนด์ (หนึ่งในประเทศสมาชิก EU) ซึ่งมีความยากลำบากเนื่องจากจุดยืนทางนโยบายและการเมืองที่ต่างกันระหว่าง UK และ EU ทำให้โอกาสของการเกิด No-deal Brexit เพิ่มขึ้นหากไม่สามารถหาข้อสรุปและไม่ขยายเส้นตาย Brexit ออกไป

อย่างไรก็ดี อีไอซีมองว่า โอกาสของการเกิดการเลือกตั้งทั่วไปใหม่ใน UK ก่อนหมดวาระมีความเป็นไปได้มากกว่า หากนายจอห์นสันถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจและเกิดการยุบสภา เนื่องจากเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้รัฐบาล UK ใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งสามารถรวบรวมเสียงข้างมากในสภาและผลักดันรูปแบบ Brexit ได้

ผลกระทบทางตรงต่อการส่งออก การลงทุนและการท่องเที่ยวของไทยมีจำกัดแม้ในกรณี No-deal Brexit แต่อาจได้รับผลกระทบทางอ้อมจากตลาดการเงินโลกโดยเฉพาะค่าเงินปอนด์และยูโร รวมถึงความเสี่ยงการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่อาจเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้การฟื้นตัวของภาคการส่งออกและท่องเที่ยวของไทยมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นตามไปด้วยในระยะข้างหน้า

โดยEconomic Intelligence Center (EIC) เขียนโดย ดร. กำพล อดิเรกสมบัติ , ดร. ธนพล ศรีธัญพงศ์ และ ชินโชติ เถรปัญญา

www.mitihoon.com