GPSC เผย ‘กลุ่มปตท.’คว้าดีลผลิตไฟฟ้าให้นิวย่างกุ้ง-ปักธง5ปีจ่ายไฟ 5,500 MW

727

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ หรือ GPSC โดย “นายชวลิต ทิพพาวนิช” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ เผยว่า กลุ่มบมจ.ปตท. (PTT) ซึ่งประกอบด้วย ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ของปตท. ,บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) และ GPSC ได้รับการคัดเลือกจาก New Yangon Development Company (NYDC) ของเมียนมา ให้เป็นผู้พัฒนาระบบการผลิตไฟฟ้าในนิวย่างกุ้ง ซึ่งเป็นเขตติดต่อกับเมืองย่างกุ้ง ตามแผนการพัฒนาเมืองใหม่ในระยะ 3-5 ปีข้างหน้า

หลังจากนี้ “กลุ่มปตท.” ก็จะหารือรายละเอียดร่วมกันในกลุ่มและหารือกับกลุ่ม Gail จากอินเดีย ซึ่งได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้จัดหาก๊าซธรรมชาติเพื่อรองรับการพัฒนาพื้นที่นิวย่างกุ้ง เพราะเบื้องต้นการผลิตไฟฟ้าของ “กลุ่มปตท.” ก็จะต้องใช้ก๊าซฯจากกลุ่ม Gail ในการพัฒนาโครงการด้วย

อย่างไรก้ดียังเร็วเกินไปที่จะเปิดเผยรายละเอียดของโครงการดังกล่าว เนื่องจากจะต้องหารือร่วมกันกับหลายฝ่าย เพราะการผลิตไฟฟ้าก็ต้องพิจารณาความต้องการใช้ไฟฟ้าและต้นทุนก๊าซฯ ขณะที่การจัดหาก๊าซฯก็ต้องพิจารณาความต้องการใช้ไฟฟ้าและภาคอุตสาหกรรมด้วย

“ปีที่ผ่านมา NYDC ประกาศแผนโครงการนิวย่างกุ้ง บนพื้นที่ 20,000 เอเคอร์ ซึ่งปัจจุบันเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ตั้งอยู่คนละฝั่งแม่น้ำจากเมืองย่างกุ้ง โดยทางการเมียนมาคาดว่าโครงการเมืองใหม่แห่งนี้จะก่อให้เกิดการสร้างงาน 2 ล้านตำแหน่ง อย่างไรก็ตามโครงการดังกล่าวยังอยู่ระหว่างรอการอนุมัติจากรัฐบาลกลาง” นายชวลิต กล่าว

นอกจากนี้ GPSC ยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างรอติดตามความคืบหน้าเพื่อพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าในเมียนมาอีก 2 โครงการ โดยเป็นการผลิตไฟฟ้าตามโครงการ Gas to Power ขนาด 600 MW ร่วมกับ PTTEP ซึ่งการเจรจาล่าสุดทางการเมียนมาพร้อมที่จะเร่งรัดโครงการให้ ส่วนอีก 1 โครงการยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้

สำหรับแผนธุรกิจ 5 ปีข้างหน้า ตั้งเป้ามีกำลังการผลิตไฟฟ้า 5,500 MW โดย 1 ใน 3 ของกำลังการผลิตจะมาจากเชื้อเพลิงประเภท conventional ซึ่งเป็นพลังงานที่ใช้แล้วหมดไป อย่างน้ำมัน ก๊าซฯ ถ่านหิน ขณะที่อีก 1 ใน 3 จะมาจากพลังงานทดแทน และอีก 1 ใน 3 เป็นการเติบโตตามกลุ่มปตท. โดยประเทศเป้าหมายการลงทุนยังอยู่ในพื้นที่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) เพราะมีพื้นที่ กฎระเบียบ และวัฒนธรรมใกล้เคียงกับประเทศไทย

ส่วนการพัฒนาระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System) เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ของปตท.และ GPSC ที่เห็นว่าเป็นทิศทางใหม่ของโลก และเป็น New S-Curve ที่มีทั้งโอกาสและความเสี่ยงควบคู่กันไป ทำให้ต้องเกาะติดสถานการณ์แต่การตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่งจะต้องเป็นไปด้วยความระมัดระวัง และต้องดำเนินการร่วมกับพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญ ซึ่งเบื้องต้นได้วางแผนที่จะพัฒนาแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน เพื่อเป็นโรงงานต้นแบบก่อนว่าจะสามารถพัฒนาต่อไปเป็นเชิงพาณิชย์ได้หรือไม่ หากประสบความสำเร็จก็พร้อมจะเดินหน้าต่อ แต่หากไม่สำเร็จก็จะต้องตั้งด้อยค่าสำหรับสิ่งที่ได้ลงทุนไป

www.mitihoon.com