CPN ยืนยันเปิด “เซ็นทรัล วิลเลจ” 31 ส.ค.นี้

280

มิติหุ้น-บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา (CPN) ผู้บริหารและพัฒนาโครงการเซ็นทรัล วิลเลจ  โดยนายปรีชา เอกคุณากูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหารเปิดเผยว่า โครงการ เซ็นทรัล วิลเลจ ได้ดำเนินการทุกอย่างตามขั้นตอนอย่างถูกต้อง และได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องตามกฎหมายจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและมีอำนาจรับผิดชอบโดยตรง มีความโปร่งใสพร้อมให้ตรวจสอบ วอนให้ความเป็นธรรมช่วยกันเดินหน้าประเทศไทยทั้งภาพลักษณ์ที่ดีและเศรษฐกิจของประเทศ ให้โครงการเซ็นทรัล วิลเลจ ที่มีร้านค้ากว่า 150 ร้านค้า รวมกว่า 5,000 ล้านบาท เปิดบริการ วันที่ 31 สิงหาคมนี้ตามกำหนดการเดิม โดยหลังจากเปิดให้บริการคาดว่า จะมีการจ้างงานพนักงานร้านค้าที่เช่าพื้นที่ กว่า 1,000 คน และคาดว่า จะสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการในประเทศกว่า 30,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ที่ผ่านมาทุกโครงการของบริษัทฯ ไปตั้งอยู่ บริษัทฯ ล้วนนำพาความเจริญ สร้างเศรษฐกิจ มีการจ้างงาน กระจายรายได้สู่ชุมชน และยกระดับคุณภาพชีวิตมาอย่างยาวนาน ถึง 34 ศูนย์การค้า ใน 18 จังหวัดทั่วประเทศ โดยบริษัทฯ มุ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างภาพลักษณ์ที่ดี ส่งเสริมเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว การลงทุนในประเทศไทย โดยลักชูรี่ เอาท์เล็ตแห่งนี้  จะช่วยสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน (Competitive Advantage) กับประเทศต่างๆ ทั่วโลก บริษัทฯ สามารถดึงนักลงทุน Global Brands ใหญ่ๆ ระดับโลก ซึ่งทุกคนพร้อมและเชื่อมั่นมาลงทุนในประเทศไทย โดยเราได้ใช้เวลาเตรียมการมากว่า 5 ปี และ Luxury Outlet แห่งนี้ จะเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยว ที่มีความครบถ้วน และทำให้คนไทยมาช้อปในประเทศ ทำให้ภาษียังหมุนเวียนอยู่ในประเทศ โดยเป็นการเปิดกว้างให้คนทุกกลุ่มเข้าถึงสินค้าแบรนด์เนมได้ง่ายขึ้นในราคาย่อมเยาว์

-ส่วนพื้นที่โครงการไม่ได้รุกล้ำพื้นที่ของรัฐ

ส่วนพื้นที่โครงการมีการเชื่อมทางเข้าออกอย่างถูกต้อง ไม่มีการรุกล้ำที่ดินของภาครัฐ (ที่ราชพัสดุ ลำรางสาธารณะ) และไม่ได้เป็นที่ดินตาบอด ซึ่งที่ดินโครงการเซ็นทรัล วิลเลจ ตั้งอยู่บนที่ดินที่ติดกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 ซึ่งไม่ได้อยู่ภายใต้การดูแลของ ทอท. ทั้งนี้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 เดิมเป็นที่ราชพัสดุ ต่อมากรมทางหลวงได้พัฒนาเป็นทางหลวงแผ่นดิน โดยได้ขึ้นทะเบียนเป็นทางหลวงแผ่นดินแล้ว จึงมีสถานภาพเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ทำให้ไม่มีสถานะเป็นที่ราชพัสดุตามมาตรา 7 (2) พ.ร.บ. ที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2562 และเป็นพื้นที่คนละบริเวณกันกับที่ภาครัฐเวนคืนมาเพื่อสร้างสนามบินที่ ทอท. ดูแล

นอกจากนี้โครงการยังได้รับอนุญาตเชื่อมทางอย่างถูกต้องจากกรมทางหลวง ซึ่งเป็นผู้ซึ่งมีอำนาจเต็มในการอนุมัติการเชื่อมทางแต่เพียงผู้เดียว ทั้งนี้ พื้นที่ทางหลวงหมายเลข 370 หมายรวมถึง เขตทาง และไหล่ทาง ซึ่งติดกับที่ดินของเอกชน 2 ข้างถนน ซึ่งที่ดินของโครงการมีแนวเขตแนบสนิทต่อเนื่องกับเขตทางของ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 ดังนั้น ที่ดินของโครงการจึงไม่ใช่ที่ดินตาบอด

ดังนั้น รายละเอียดในส่วนของการโต้แย้งสิทธิในที่ดินหน้าโครงการ ระหว่าง กรมทางหลวง ทอท. และกรมธนารักษ์ ขอชี้แจงเพิ่มเติม ดังนี้ ที่ดินนี้อยู่บนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 และมีป้ายเริ่มต้นและสิ้นสุดอย่างชัดเจน โดยทางหลวงแผ่นดิน 370 ซึ่งเคยเป็นที่ราชพัสดุ และมอบให้กรมทางหลวงสร้างและเป็นผู้ดูแล ซึ่งเป็นพื้นที่คนละส่วนกับพื้นที่ดินเวนคืนของสนามบินสุวรรณภูมิที่ ทอท ดูแล อีกทั้ง ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 ถือเป็นทางหลวงสาธารณะ ที่ใช้เงินภาษีอากรของประชาชน ไม่ใช่ขององค์กรเอกชนใดที่จะมากล่าวอ้างเป็นเจ้าของได้

ซึ่งทอท. เองก็ได้ขออนุญาตจากกรมทางหลวงในการใช้ประโยชน์ เช่น จากหลักฐานล่าสุดเมื่อ 14 พ.ค. 2562 ได้มีหนังสือจากกรมทางหลวงอนุญาตให้ ทอท. เดินท่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดินและบ่อพัก ทั้งนี้ ไม่มีผู้ใช้ประโยชน์รายใด เคยยื่นขออนุญาตเชื่อมทางจาก ทอท. เลย

-ทอท.กล่าวอ้างครอบครองไหล่ทางหน้าโครงการไม่ถูกต้อง

สำหรับพื้นที่อีกส่วนหนึ่งที่เกิดจากการจัดหาที่ดินตาม พ.ร.บ. เวนคืน เพื่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ ในปี 2516 ได้มีประกาศ พ.ร.บ. เวนคืนที่ดินจำนวน 19,251 ไร่ เพื่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ โดยเป็นที่ดินคนละแปลงกับที่ดินทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370  เพื่อชี้ให้เห็นว่า สิ่งที่ ทอท. กล่าวอ้างสิทธิการดูแลและครอบครองที่ดินไหล่ทางหน้าโครงการ ไม่น่าจะเป็นกล่าวอ้างที่ถูกต้องนัก

และอีกประเด็นบริษัทฯ ได้ปฏิบัติตามกฎหมายผังเมืองอย่างเคร่งครัด โครงการนี้ได้ปฏิบัติตามกฎหมายผังเมืองและได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องในการก่อสร้างในพื้นที่สีเขียว บริเวณ ก1-10 ไม่เกินร้อยละ 10 ของที่ดินพื้นที่สีเขียวบริเวณดังกล่าว โดยโครงการได้รับอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายผังเมือง และไม่ได้มีการขอปรับผังเมืองแต่อย่างใด

-บริเวณก่อสร้างอยู่ในเขตปลอดภัยในการเดินอากาศ

ส่วนประเด็นที่ 3 คือ บริษัทฯ ได้ขออนุญาตก่อสร้างในบริเวณพื้นที่เขตปลอดภัยในการเดินอากาศ จากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย อย่างถูกต้อง โครงการมีความปลอดภัยต่อการบิน ไม่ได้ละเมิดกฏใดๆ ทั้งด้านความสูง และไม่มีกิจกรรมใดๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานสนามบิน หรือรบกวนการบินแต่อย่างใด โดยแบบมีความสูงที่ถือว่าต่ำกว่ามาตรฐานที่กำหนด ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) จึงไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับการติดธงแดงตามที่มีการกล่าวอ้าง

www.mitihoon.com