มูลนิธิไอวีแอลจับมือ GEPP ร่วมโครงการจัดเก็บขยะรีไซเคิลเพื่อความยั่งยืน

73

มิติหุ้น – ไอวีแอล จับมือ องค์กร GEPP (เก็บ) ลงนามบันทึกความร่วมมือใน โครงการจัดเก็บขยะรีไซเคิลเพื่อความยั่งยืน” เพื่อนำขวดพลาสติก PET มาเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลด้วยแนวคิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ในโอกาสเดียวกันนี้ มูลนิธิไอวีแอลได้มอบถังขยะรีไซเคิลกว่า 70 ใบ แก่สถานทูต 5 แห่ง ได้แก่ สถานทูตโปรตุเกส สถานทูตเนเธอร์แลนด์ สถานทูตอินเดีย สถานทูตอินโดนีเซีย และสถานทูตมาเลเซีย หวังสร้างความร่วมมือในการจัดเก็บ และคัดแยกขยะเพื่อนำมารีไซเคิลอย่างยั่งยืนต่อไป

นางสุจิตรา โลเฮีย ประธานมูลนิธิไอวีแอล กล่าวว่า “มูลนิธิไอวีแอล เป็นองค์กรที่ดำเนินการด้านสาธารณประโยชน์ และความเป็นอยู่ที่ดีเพื่อความยั่งยืนของสังคม จึงตระหนักดีถึงภารกิจและความรับผิดชอบที่มีต่อสังคมโดยรวม โดยมุ่งที่จะลดและจำกัดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และชุมชน โดยสนับสนุนการสร้างความตระหนักรู้แก่สังคมในการลดของเสียจากอุตสาหกรรม และบ้านเรือน โดยให้ความรู้ในเรื่องการนำกลับมาใช้ใหม่ การจัดเก็บผลิตภัณฑ์ และนำมารีไซเคิลอย่างถูกต้องเหมาะสม ซึ่ง PET เป็นพลาสติกที่สามารถนำมารีไซเคิลได้100%

“โดยการลงนามความร่วมมือกับ GEPP ในครั้งนี้ มูลนิธิไอวีแอลได้ร่วมมือกับ GEPP ซึ่งเป็นองค์กรที่ให้ความรู้ด้านการคัดแยกขยะและวัสดุรีไซเคิล รวมถึงเป็นแหล่งพบปะกันสำหรับผู้ที่ต้องการขายและผู้รับซื้อวัสดุรีไซเคิลในชุมชนออนไลน์  ซึ่งสมาชิกผู้รับซื้อบนแพลตฟอร์มจะให้บริการรับซื้อวัสดุในเขตกรุงเทพฯ ถึงบ้านและออฟฟิศเลย โดย สมาชิกผู้รับซื้อบนแพลตฟอร์ม GEPP จะรวบรวมวัสดุรีไซเคิลที่รับซื้อมาและคัดแยกเพิ่มเติมเพื่อให้เข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลอย่างเหมาะสมต่อไป เช่น ขวดพลาสติก PET ที่ได้ผ่านการแยกประเภทสี และแยกวัสดุพลาสติกประเภทอื่นๆ ออกไปแล้วสามารถ นำไปผ่านกระบวนการรีไซเคิลเป็นเม็ดพลาสติกรีไซเคิล และเส้นใยโพลีเอสเตอร์ เพื่อใช้ผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น เสื้อผ้า ภาชนะบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารและเครื่องดื่ม เนื่องจากมีความสะอาดและมีคุณภาพทัดเทียมกับขวดพลาสติก PET ใหม่ โดยมีเป้าหมายช่วยลดขยะขวดพลาสติก PET ได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 10 ล้านขวด ซึ่งเราหวังว่า ภายใต้ความร่วมมือในโครงการรีไซเคิลขวดพลาสติก PET กับ GEPP ในครั้งนี้ จะช่วยลดจำนวนขยะขวดพลาสติก PET ในชุมชน รวมถึงเผยแพร่ความรู้แก่ประชาชนถึงความจำเป็นของการรีไซเคิล และการคัดแยกและจัดเก็บอย่างถูกวิธี เพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกอย่างยั่งยืนต่อไป” นางสุจิตรา กล่าว

นางสาวมยุรี อรุณวรานนท์ ซีอีโอ และผู้ร่วมก่อตั้งองค์กร GEPP (เก็บ) ซึ่งเป็นดิจิทัลแพลตฟอร์มที่ทำหน้าที่เชื่อมโยงระหว่างผู้ที่มีวัสดุรีไซเคิลกับผู้รับซื้อ กล่าวว่า “เราทำงานด้านการจัดเก็บขยะรีไซเคิลมาปีกว่าแล้ว จากการศึกษาพฤติกรรมของคนเมือง และปัญหาต่างๆ ที่ทำให้การจัดเก็บขยะรีไซเคิลยังไม่มากพอเท่าที่ควรจะเป็น ทั้งที่ตอนนี้คนไทยก็มีความตื่นตัว และรณรงค์เรื่องของการทิ้งขยะพลาสติกกันอย่างกว้างขวาง ซึ่งจากการลงมือทำงานแล้วพบว่า สิ่งที่ทุกคนต้องเรียนรู้คือ หนึ่ง ต้องมีความรู้ในการรู้จักวัสดุขยะของตัวเองที่บ้าน สอง ต้องคัดแยกขยะให้ถูกประเภท และสาม ต้องมีระบบมารองรับให้คนที่พร้อมที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างสม่ำเสมอ ซึ่ง GEPP สามารถสร้างสามสิ่งนี้ให้เกิดขึ้นได้พร้อมกันเพื่อเป็นการสร้างพฤติกรรมแยกขยะและวัสดุรีไซเคิลที่ผู้บริโภคทำได้จริง ทั้งนี้ GEPP มีแผนจะทยอยขยายพื้นที่ให้บริการจากเขตกรุงเทพฯ ชั้นใน เช่น ทองหล่อ  ปทุมวัน ขยายไปสู่กรุงเทพรอบนอก และอีก 10 จังหวัดที่มีปัญหาด้านขยะในอนาคต และมั่นใจว่า ความร่วมมือกับมูลนิธิไอวีแอลในครั้งนี้ จะเป็นหนึ่งในพลังขับเคลื่อนที่มีส่วนช่วยลดปัญหาด้านขยะพลาสติกของประเทศไทยให้ลดลงได้ และทำให้คนไทยมีความตระหนักรู้ และร่วมใจกันแยกขยะและวัสดุรีไซเคิลอย่างถูกวิธีเพื่อลดการใช้หลุมฝังกลบหรือเผาขยะที่ทำลายสิ่งแวดล้อม”

สำหรับผู้ที่สนใจมีส่วนร่วมในการลดปัญหาขยะพลาสติก PET ร่วมกับมูลนิธิไอวีแอล และ GEPP สามารถติดต่อ ได้ผ่าน 4 ช่องทาง คือ เฟซบุ๊ก GEPP Thailand, Line ID: @GEPP, Web Apps: https://call.gepp.me/login และโทรศัพท์ 064-043-7166