อินโดรามา เวนเจอร์ส ชูโมเดลแลกเครื่องเขียนด้วยขยะรีไซเคิล ปลูกจิตสำนึกการทิ้งขยะ ที่โรงเรียนวัดมุจลินท์ จ.ลพบุรี

233

“หนูเอาเงินที่ได้มาจากการขายขยะรีไซเคิลมาแลกซื้อสมุดและดินสอที่ร้านเครื่องเขียนไร้เงินสดที่โรงเรียนค่ะ หนูก็ไม่คิดว่าการเก็บขวดพลาสติกที่ไม่ใช้แล้วจากที่บ้านจะช่วยให้เรามีเงินเก็บได้จากโครงการธนาคารขยะรีไซเคิลที่ “ครูเหมียว” จากอินโดรามา เวนเจอร์ส มาสอนพวกเราให้รู้จักคัดแยกขยะ และรู้ว่าขยะพลาสติกประเภทไหนที่สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ ทำเป็นเสื้อได้ โต๊ะเก้าอี้พลาสติกที่เอากลับมาใช้อีกครั้งได้ก็รู้สึกตื่นเต้นมากค่ะ” 

เสียงเล็กๆ ของหนึ่งในนักเรียนตัวจิ๋วในโรงเรียนวัดมุจลินท์​ (รัฐประชานุเคราะห์) เล่าให้ฟังถึงโครงการธนาคารขยะรีไซเคิล และร้านเครื่องเขียนไร้เงินสด ที่สนับสนุนการดำเนินงานโดยกลุ่มบริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส หรือ ไอวีแอล บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเคมีภัณฑ์​และธุรกิจพลาสติก PET  รีไซเคิลชั้นนำในเมืองไทย ซึ่งมาปูเส้นทางการปลูกจิตสำนึกการตระหนักรู้เกี่ยวกับปัญหาขยะ และสอนวิธีการคัดแยกขยะอย่างถูกต้อง และสร้างขยะพลาสติกให้เป็นรายได้ให้แก่คุณครู และเด็กนักเรียนที่โรงเรียนวัดมุจลินท์ (รัฐประชานุเคราะห์) จังหวัดลพบุรี

นายริชาร์ด โจนส์  รองประธานอาวุโสและหัวหน้าฝ่ายสื่อสารองค์กร ความยั่งยืน และทรัพยากรบุคคล บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) เล่าว่า “อันที่จริง บริษัทฯ ได้ริเริ่มโครงการธนาคารขยะมานานเกือบ 10 ปีแล้ว โดยจัดตั้งธนาคารขยะครั้งแรกในปี พ.ศ. 2553 ที่โรงเรียนบ้านหนองแฟบ จังหวัดระยอง และเปิดดำเนินงานธนาคารขยะแห่งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2556 ที่จังหวัดระยองเช่นเดียวกัน เพราะการให้ความรู้ด้านการรีไซเคิล คือ สิ่งที่ไอวีแอลให้ความสำคัญ เราเสริมสร้างและเพิ่มความตระหนักแก่สาธารณะ รวมไปถึงการเปลี่ยนพฤติกรรม การทิ้งขยะ การจัดการขยะ และความสำคัญของการรีไซเคิล ตลอดจน ผลิตภัณฑ์ที่สร้างจากการรีไซเคิลขวด PET  ซึ่งโครงการนี้ไม่เพียงแต่ช่วยส่งเสริมการรักษาสิ่งแวดล้อม แต่ยังสร้างความตระหนักในเรื่องมูลค่าของของเสียที่สามารถเพิ่มรายได้ให้แก่คนในชุมชนอีกด้วย ปัจจุบันโครงการนี้มีสมาชิกเข้าร่วมโครงการ 535 คน สามารถลดปริมาณขยะได้ 79,801 กิโลกรัม และสร้างรายได้ 182,978 บาท”

“สำหรับโครงการธนาคารขยะ ที่โรงเรียนวัดมุจลินท์ นับได้ว่าเป็นครั้งแรกที่กลุ่มอินโดรามา เวนเจอร์ส ภายใต้การดำเนินงานของ บมจ.อินโดรามา โพลิเมอร์ส ได้เริ่มเข้ามาทำงานซีเอสอาร์ในพื้นที่จังหวัดลพบุรี ซึ่งนอกเหนือจากการสนับสนุนอาคารธนาคารขยะรีไซเคิลแล้ว เรายังต่อยอดและสร้างความยั่งยืนให้กับโครงการฯ ด้วยการจัดตั้ง “ร้านค้าเครื่องเขียนไร้เงินสด” เพื่อที่จะให้นักเรียนได้นำรายได้จากการขายฝากขยะรีไซเคิลมาซื้อเครื่องเขียน เป็นการแบ่งเบาภาระให้กับผู้ปกครองด้วยการลดรายจ่ายในการซื้ออุปกรณ์การเรียนบางส่วนให้กับนักเรียน อีกทั้งยังช่วยสร้างแรงจูงใจให้กับนักเรียนในการนำขยะรีไซเคิลที่บ้านและชุมชนมาฝากกับธนาคารขยะรีไซเคิลของโรงเรียนวัดมุจลินท์ (รัฐประชานุเคราะห์) ซึ่งผมหวังว่า โครงการนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเหลือเศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมในชุมชนจังหวัดลพบุรีได้อย่างยั่งยืน” ริชาร์ด กล่าว

ด้าน นายไพรัช ปั้นสอาด (ซ้ายสุด) ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดมุจลินท์ (รัฐประชานุเคราะห์) กล่าวเพิ่มเติมว่า “โรงเรียนของเราตั้งอยู่ที่ ตำบลมุจลินท์ อำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี เป็นโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษาในสังกัด สพฐ. กระทรวงศึกษาธิการ เปิดสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาลปีที่ 1 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และกำลังขยายการศึกษาถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 มีครู 14 คน และนักเรียน 160 คน ซึ่งครั้งแรกที่ทีมงานของไอวีแอล เข้ามาพูดคุยกับทางโรงเรียนเพื่อแนะนำโครงการธนาคารขยะรีไซเคิลนี้ คุณครูและนักเรียนของเรามีความสนใจมากเพราะที่จังหวัดลพบุรีเรายังไม่เคยมีโครงการที่เกี่ยวกับการคัดแยกขยะพลาสติกมาก่อนเลย ดังนั้น ธนาคารขยะรีไซเคิล และร้านเครื่องเขียนไร้เงินสด จึงเป็นเรื่องใหม่ และเรื่องที่จะสร้างความยั่งยืนให้กับโรงเรียนของเราได้ อีกทั้ง การที่ “ครูเหมียว” ซึ่งเป็นทีมงานด้านซีเอสอาร์และความยั่งยืน มาสอนโปรแกรม Recycling Education ชี้ให้นักเรียนตระหนักเกี่ยวกับปัญหาขยะ และเรียนรู้การคัดแยกขยะ รู้จักประเภทของขยะพลาสติกที่สามารถนำกลับมารีไซเคิลเพื่อใช้ประโยชน์ซ้ำ รวมถึงการแจกอุปกรณ์การเรียนและหนังสือเกี่ยวกับเส้นทางของพลาสติกรีไซเคิลที่กลุ่มบริษัทฯ ได้จัดทำไว้เพื่อให้นักเรียนได้ศึกษาเพิ่มเติมในห้องสมุดของโรงเรียนเราก็นับเป็นประโยชน์ของครูและนักเรียน ตลอดจนความสำเร็จของโครงการนี้ ทางโรงเรียนยังสามารถต่อยอด และขยายผลการเรียนรู้ให้กับโรงเรียนอื่นๆ ในเขตจังหวัดลพบุรีได้อีกด้วย ต้องขอขอบคุณอินโดรามา เวนเจอร์ส มา ณ โอกาสนี้ด้วย”

“เพราะเราเชื่อว่า เด็กรุ่นใหม่สามารถเปลี่ยนแปลงโลก และสร้างอนาคตที่ดียิ่งขึ้นได้ การเสริมสร้างความตระหนักให้เด็กและเยาวชน เข้าใจถึงวิธีการแยกขยะอย่างถูกต้องจะช่วยแก้ปัญหาได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก และขยะที่เก็บได้จากการคัดแยกแล้วก็สามารถนำมารีไซเคิลเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายและมีประโยชน์ และยังช่วยปกป้องสิ่งแวดล้อม ลดการใช้พลังงาน และสร้างงานในห่วงโซ่คุณค่าได้อีกด้วย ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นนี้คือ แนวคิด “เศรษฐกิจหมุนเวียน” โดยแท้จริง ซึ่งไอวีแอลกำลังเดินหน้าดำเนินงานตามแนวทางนี้อย่างมุ่งมั่นและตั้งใจเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีอย่างยั่งยืน” ริชาร์ด กล่าวปิดท้าย