7UP วางเป้ารายได้ปีนี้1.4 พันลบ. มั่นใจทุกธุรกิจเติบโตแกร่ง ปีหน้าเล็งชงผถห.ล้างขาดทุนสะสมเกลี้ยง คาดจ่ายปันผลปี 64

1019

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ.เซเว่น ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ หรือ7UP โดยนายสิทธิชัย กฤชวิวรรธน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เปิดเผยว่า บริษัทคาดปี 62 จะมีรายได้ 1,400 ล้านบาท เติบโตราว 70% จากปีก่อน และผลประกอบการพลิกมีกำไรเป็นปีแรกในรอบ 5 ปี จากการเริ่มรับรู้ผลจากการเข้าลงทุนในโครงการต่าง ๆ และสามารถจัดการปัญหาที่มีมาแต่ในอดีต และปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจกระจายการลงทุนเข้าสู่ธุรกิจที่มีศักยภาพการเติบโตในอนาคต โดยเฉพาะธุรกิจสาธารณูปโภคการบริหารจัดการน้ำ การบริหารกำจัดกากขยะอุตสาหกรรม การเข้าลงทุนในธุรกิจพลังงานทดแทน รวมทั้งรายได้จากธุรกิจด้านวิทยุสื่อสารโทรคม

ทั้งนี้ ผลประกอบการไตรมาส 2/62 บริษัทสามารถพลิกมีกำไรสุทธิเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ไตรมาส และปลดเครื่องหมาย “C” ตามที่ได้ให้คำมั่นไว้กับผู้ถือหุ้น โดยช่วงถัดจากนี้ไปบริษัทจะทุ่มเทกับการดำเนินธุรกิจอย่างเต็มที่ เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว เร่งคืนผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้นโดยเร็ว

สำหรับการดำเนินธุรกิจจัดการและกำจัดกากขยะอุตสาหกรรม แบ่งตามใบอนุญาตที่ได้รับ คือ ประเภท 101 ประกอบกิจการโรงงานปรับปรุงคุณภาพของเสียรวม และ ประเภท 105 ประกอบกิจการเกี่ยวกับการคัดแยกหรือฝังกลบสิ่งปฎิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว ซึ่งครอบคลุมถึงการลงทุนในเตาเผาขยะอุตสาหกรรม ที่มีกำลังการเผาขยะอุตสาหกรรมขนาด 330 ตันต่อวัน ซึ่งจะสร้างเสร็จในช่วงปลายปี 64 โดยในปัจจุบันบริษัทฯ มีการดำเนินธุรกิจรับกำจัดกากขยะอุตสาหกรรม ในรูปแบบการฝังกลบอยู่แล้ว โดยบริษัทฯ มีรถบรรทุกที่วิ่งรับกากขยะอุตสาหกรรมจากโรงงานต่างๆ จำนวนทั้งสิ้น 34 คัน

สำหรับธุรกิจบริการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารชายฝั่งตะวันออกกับภาคกลางตอนล่างและภาคใต้ (ROPAX Ferry Services) ดำเนินการภายใต้บริษัท ซีฮอร์ส เฟอร์รี่ จำกัด จะเริ่มให้บริการในเส้นทาง สัตหีบ-ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทางถนน 530 กิโลเมตร ใช้เวลา 11-13 ชั่วโมง หากเป็นขนส่งทางเรือจะใช้ระยะเวลา 5-6 ชั่วโมง เส้นทางแหลมฉบัง-ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทางถนน 470 กิโลเมตร ใช้เวลา 10-12 ชั่วโมง หากเป็นขนส่งทางเรือจะใช้ระยะเวลา 7-8 ชั่วโมง และเส้นทางถัดไป เส้นทางชลบุรี-สงขลา ระยะทางถนน 1,100 กิโลเมตร ใช้เวลา 23-24 ชั่วโมง หากเป็นขนส่งทางเรือจะใช้เวลา 19-20 ชั่วโมง เบื้องต้นจะเริ่มให้บริการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าในเส้นทางแหลมฉบัง-ประจวบคีรีขันธ์ เป็นเส้นทางแรก

“บริษัทคาดหวังว่าธุรกิจนี้จะได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก โดยวางแผนซื้อเรือเพิ่ม 5 ลำ ใช้งบลงทุนลำละ 20 ล้านเหรียญ ซึ่งภายในปี 63 จะมีเพิ่มอีก 2 ลำ และทยอยส่งมอบถึงปี 64โดยคาดต้นปี63 เรือลำแรกจะหนุนรายได้เพิ่มราว 900 ล้านบาท” นายสิทธิชัย กล่าว

ส่วนโครงการจัดซื้อสะพานเทียบเครื่องบิน ท่าอากาศยานดอนเมือง จำนวน 33 ชุด มูลค่ากว่า 400 ล้านบาท อัตรากำไรขั้นต้น 10% อยู่ระหว่างรอลงนามในสัญญา ด้านโครงการโรงไฟฟ้าประชารัฐชีวมวลในภาคใต้ จำนวน 2 โรง คือ โรงไฟฟ้าประชารัฐ แม่ลาน ในจังหวัดปัตตานี กำลังการผลิตไฟฟ้า 3 เมกกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าประชารัฐ บันนังสตา ในจังหวัดยะลา จำนวน 3 เมกกะวัตต์ ดำเนินการผ่านการลงทุนในบริษัท อีโค เอ็นเนอร์ยี กรุ๊ป คอร์ปอเรชั่น จำกัด(ECO) ซึ่งคาดว่าจะสามารถขายกระแสไฟฟ้าได้ (COD) ภายในเดือนธันวาคม 2563

ขณะที่ธุรกิจปรับปรุงคุณภาพน้ำเพื่อการเลี้ยงกุ้ง ปัจจุบันบริษัทฯได้เริ่มให้บริการในประเทศไทยแล้ว โดยรับบำบัดน้ำให้กับฟาร์มกุ้งของบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF สำหรับเฟสแรกส่งน้ำ 50,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ได้เริ่มดำเนินการในช่วงไตรมาสแรกของปี 2562 ไปแล้ว และเตรียมส่งมอบในเฟสที่สอง 14,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวันในช่วงเดือนกันยายน 2562 โดยมีแผนที่จะขยายกำลังการบำบัดน้ำดังกล่าวเพิ่มขึ้นในปี 2563 ไปสู้พื้นที่ในประเทศไทยที่ติดชายทะเล และ ประเทศในแถบภูมิภาคอาเซียน ซึ่งอยู่ระหว่างการหารือร่วมกับทาง CPF
ส่วนโครงการจัดหาติดตั้งเสาและพาดสายไฟเบอร์ออพติก เมืองเวียงจันทน์ ประเทศสาธารณชนประชาธิปไตยประชาชนลาว(สปป.ลาว) มูลค่าโครงการกว่า 100 ล้านบาท อัตรากำไรขั้นต้น 10% ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินงานเฟสแรก เพื่อติดตั้งเสา 146 กิโลเมตร และคาดว่าจะเริ่มติดตั้งเสาเฟส 2 ที่ 200 กิโลเมตรในช่วงปลายปี 62 นี้
นอกจากนี้ โครงการจัดการของเสียปรอทจากแท่นหลุมผลิตในอ่าวไทย เป็นไปตามอนุสัญญามินามาตะว่าด้วยปรอท ขณะนี้ บริษัทฯ ได้เจรจาเข้าลงทุนในบริษัทที่ได้รับใบอนุญาตประเภท 106 สามารถให้บริการกำจัดสารปรอทของแท่นหลุมผลิตที่หมดอายุสัมปทานในทะเลอ่าวไทย คาดว่าจะสามารถเริ่มให้บริการได้ภายในปี 63

อย่างไรก็ตาม บริษัทคาดธุรกิจและโครงการลงทุนต่างๆ จะเข้ามาช่วยสนับสนุนการเติบโตของบริษัทฯในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า หรือคาดว่าภายใน 64 บริษัทจะมีรายได้ราว 4,000 ล้านบาท โดยธุรกิจกำจัดกากอุตสาหกรรม (UWM ) จะกลายเป็นธุรกิจหลักสร้างรายได้ในสัดส่วน 31% ตามด้วยธุรกิจเดินเรือ (ซีฮอร์ส เฟอร์รี่) สัดส่วน 27% ขณะที่สตาร์แก๊ส จำกัด จะลดลงเหลือ 24%

“ปัจจุบันบริษัทมีขาดทุนสะสมอยู่ราว 1,000 กว่าล้านบาท ซึ่งปี 63 หากบริษัทดำเนินธุรกิจและโชว์ตัวเลขกำไรสุทธิได้ มีแผนเป็นแนวทางว่าจะขออนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นในคราวหน้า เพื่อลดทุนล้างขาดทุนสะสมทั้งหมดที่มีอยู่ และหลังจากนั้นคาดจะสามารถจ่ายปันผลได้อย่างเร็วที่สุดในปี 64” นายสิทธิชัย กล่าว