กสทช. งานประชุม 2019 ATRC OTT

116

ผมรู้สึกเป็นเกียรติและยินดีอย่างยิ่งที่ได้มาร่วมงาน 2019 ATRC OTT Dialogue ในวันนี้ ก่อนที่จะเริ่มงานในวันนี้ขอผมกล่าวถึงแนวทางที่จะพัฒนาอุตสาหกรรม OTT สักเล็กน้อย ในการประชุม OTT dialogue เมื่อปี 2017 ที่ผ่านมานั้น เราได้ทำการตกลงในหลักการเบื้องต้นเพื่อรองรับระบบการให้บริการ OTT (Over The Top) โดยมีการตกลงถึงการทำงานร่วมกันของภาคส่วนต่างๆ และการสร้างเงื่อนไขตลาดเพื่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเท่าเทียม

ยิ่งไปกว่านั้น ในการประชุม ATRC ที่สิงคโปร์เมื่อปี 2018 เราได้รับทราบถึงปัญหาการให้บริการ OTT ทั้งปัญหาทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งประเด็นดังกล่าวยังคงเป็นประเด็นที่เราให้ความสำคัญและได้มีการอภิปรายในการประชุม ATRC meetings ครั้งต่อ ๆ มา โดยมีการประชุมทั้งกับภาคส่วนอุตสหกรรมและภาครัฐ

ธุรกิจ OTT นั้นสามารถสร้างผลประโยชน์ให้กับหลายภาคส่วนได้ในระยะเวลาที่รวดเร็วและมีต้นทุนการดำเนินงานที่คุ้มค่า เนื่องจากการดำเนินกิจกรรมต่างๆของ OTT  เป็นการใช้งานผ่านทางโครงข่ายอินเตอร์เน็ต นอกจากการให้บริการ OTT จะสามารถลดค่าใช้จ่ายในการติดต่อสื่อสารได้แล้ว การให้บริการ OTT บางประเภทยังสามารถช่วยให้ผู้ประกอบการในท้องถิ่นเข้าถึงตลาดได้มากขึ้น ดังนั้น การสร้างระบบเศรษฐกิจที่เหมาะสม เพื่อผลักดันให้เกิดการใช้แพลตฟอร์ม OTT จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง

ผมจึงอยากจะย้ำเน้นถึงความสำคัญของธุรกิจการให้บริการ OTT และประโยชน์ของ OTT ในประชาคมอาเซียน เราจะต้องร่วมกันค้นหาวิธีที่เหมาะสมเพื่อผลักดันให้เกิดสภาพแวดล้อมที่จะเอื้อต่อการให้บริการ OTT ในภูมิภาคอาเซียน โดยจะต้องจัดให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม การคุ้มครองผู้บริโภค และการคุ้มครองส่วนบุคคล

การขยายตัวของบริการ OTT วันนี้สร้างความท้าทายให้กับผู้กำกับดูแลทั่วโลก เพราะมีประเด็นเชิงนโยบายมากมายตั้งแต่เรื่องการจัดเก็บภาษีของรัฐ ไปจนถึงเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม อาทิเช่นการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล การป้องกันการเผยแพร่ข้อมูลและการกระทำที่ขัดต่อกฎหมาย การจัดให้มีอภิปรายและการร่วมมือของผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องซึ่งได้แก่ ภาครัฐ หน่วยงานกำกับดูแล ผู้ให้บริการเครือข่าย ผู้ให้บริการ OTT และผู้บริโภค จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว

แนวทางแก้ไขในอนาคต คือ การพัฒนาข้อเสนอแนะซึ่งผู้มีส่วนได้เสียทุกท่านตกลงร่วมกัน เพื่อให้เกิดการพัฒนาไปในทิศทางที่สอดคล้องกับความต้องการของทุกฝ่าย กรอบดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้จากปัจจัยดังต่อไปนี้ ผู้บริโภค OTT จะต้องไม่ได้รับผลกระทบเชิงลบ เช่น ไม่ควรมีการผลักภาระให้ผู้บริโภคด้วยการเพิ่มราคา โดยเฉพาะแนวทางการเก็บภาษี เป็นต้น นอกจากนี้ ข้อเสนอแนะจะต้องก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม ทั้งนี้ ผู้ให้บริการ OTT อาจสนับสนุนเศรษฐกิจโดยการนำส่งรายได้เข้าสู่รัฐ ท้ายที่สุดแล้วผู้ให้บริการ OTT ควรได้รับแรงจูงใจให้ดำเนินการตามข้อเสนอแนะนี้ อาทิเช่น การจัดให้มีมาตรการคุ้มครองทางด้านกฎหมาย ซึ่งส่วนนี้ถือว่ามีความสำคัญมากเนื่องจากจะช่วยให้เกิดความร่วมมือจากทุกฝ่าย

 เศรษฐกิจแบบดั้งเดิมมีความไม่แน่นอนเพิ่มสูงขึ้น เศรษฐกิจใหม่จึงอยู่ในโลกออนไลน์มากขึ้น ทุกฝ่ายต้องยอมรับว่าธุรกิจ OTT เป็นแรงขับเคลื่อนหลักของโลกออนไลน์ ในโลกยุคดิจิทัลนี้ที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เราจะต้องเริ่มต้นแก้ไขแนวทางกำกับดูแลก่อนที่จะสายเกินไป ทั้งนี้ ระบบนิเวศที่สนับสนุนผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง

ท้ายที่สุดนี้ ผมขอขอบคุณผู้ให้บริการ OTT และผู้แทนจากทุกภาคส่วนที่มาร่วมอภิปรายในวันนี้ ผมเชื่อว่าอาเซียนจะไม่ดำเนินการใดให้เกิดผลเสียต่อผู้ให้บริการ OTT เรายินดีรับฟังถึงความต้องการและข้อเสนอแนะที่จะเป็นประโยชน์ต่อการร่างหลักการที่ส่งให้เกิดผลดีต่อรัฐบาล ผู้ให้บริการและผู้บริโภค ผมเชื่อว่าธุรกิจ OTT ที่แข็งแกร่งจะช่วยส่งเสริมทั้งเศรษฐกิจในภูมิภาคและเศรษฐกิจโลก

ผู้เข้าร่วมประชุมจากอาเซียนทุกท่านควรจะต้องพิจารณาปัจจัยทั้งสามประการที่ผมเสนอไว้เบื้องต้น อาจจะต้องมีการอภิปรายหรือการประชุมเพิ่มเติมหากจำเป็น ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดระบบนิเวศที่เหมาะสม วางอยู่บนฐานนโยบายที่ดี และช่วยส่งเสริมธุรกิจ OTT เราควรจะร่วมมือกันสร้างความเปลี่ยนแปลงระหว่างที่ OTT ยังเป็นโอกาส ก่อนที่ OTT จะก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อส่วนรวม