5 อันดับข่าวเด่นมิติหุ้นภาคบ่าย

239

อันดับที่ 1 SEAFCO ลุยฮุบงานใหญ่ช่วงท้ายปี-หนุนการเติบโตปีหน้า

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด ประเมินเป้าหมายหุ้น SEAFCO ที่ 11.00 บาท จากการรับรู้รายได้ที่สูงทำให้งานในมือของ SEAFCO ลดลงเป็น 2.3 พันล้านบาท แต่มีโอกาสได้งานหลายโครงการ เช่น รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินจาก CK, ทางด่วนพระราม 3 – ดาวคะนอง ที่จะรู้ผลการประมูลสิ้นปี ทำให้ผลประกอบการ ช่วงครึ่งปีหลังของปี 62 จะอ่อนแอลงจากครึ่งปีแรก และงานในมือจะเพิ่มอีกทีตอนสิ้นปี  อย่างไรก็ดียังคงแนะนำให้ “ซื้อ” โดยมีมูลค่าที่เหมาะสม 11 บาท (PER 21.4 เท่าสำหรับปี 2019F) โดยเรายังชอบ SEAFCO ในระยะกลาง – ยาว โดยมีความเสี่ยงคือ ความล่าช้าในการก่อสร้าง, งานใหม่ที่น้อยกว่าคาด, ต้นทุนวัตถุดิบ และค่าแรงที่เพิ่มขึ้น

อันดับที่ 2 AOTโดดเด่นเข้าตาโบรก โฟกัสระยะยาวกำไรแจ่ม ได้ดี“คิง เพาเวอร์”ช่วยหนุน

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บล.เคทีบี (ประเทศไทย) ให้น้ำหนักการลงทุนในกลุ่มท่องเที่ยวเป็น “เท่ากับตลาด” โดยคาดว่า แนวโน้มกำไรสุทธิของกลุ่มท่องเที่ยวในไตรมาส 2/62 มีโอกาสที่จะออกมาต่ำกว่าตลาดคาด แต่เชื่อว่าในช่วงครึ่งปีหลังของปี62 จะเห็นการฟื้นตัวได้ โดยในกลุ่มท่องเที่ยว ฝ่ายวิจัยไม่มี Top pick แต่ยังชอบ AOT ราคาเป้าหมายที่ 86.00 บาท ทั้งนี้ ข้อมูลจากกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาระบุจำนวนนักท่องเที่ยวเดือน มิ.ย. 2562 อยู่ที่ 3.05 ล้านคน เพิ่มขึ้น +1% จากช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) จากนักท่องเที่ยวอินเดีย (+27% YoY) และตะวันออกกลาง (+14% YoY) เป็นหลัก ขณะที่นักท่องเที่ยวหลักอย่างจีนยังคงหดตัวลงที่ -7% YoY ซึ่งหดตัวลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่ -8% YoY และรัสเซียหดตัวลงอีก -5% YoY

อันดับที่ 3 COTTO โชว์กำไรครึ่งแรก 151 ลบ.เพิ่ม 182 %

มิติหุ้น-แถลงผลประกอบการไตรมาส 2 และครึ่งปีแรกของปี 2562 กำไรสวนกระแส เดินหน้าสร้างฐานธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืนเน้นพัฒนานวัตกรรมพลังงานทดแทน ยกระดับมาตรฐานคุณภาพสินค้าด้วยห้องปฏิบัติการทดสอบไมิติหุ้น-บมจ.เอสซีจี เซรามิกส์ (COTTO)ผู้ผลิตและจำหน่ายกระเบื้องภายใต้แบรนด์คอตโต้ (COTTO) โสสุโก้ (SOSUCO) และ คัมพานา (CAMPANA) โดย นายนำพล มลิชัย กรรมการผู้จัดการ เปิดเผยถึงงบการเงินรวมก่อนสอบทาน ของ COTTO ในไตรมาสที่ 2 ปี 2562 ว่า บริษัทฯ มีรายได้จากการขาย 2,790 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลงร้อยละ 7 จากไตรมาสก่อน โดยมีกำไร 21 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 11 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลงร้อยละ 84 จากไตรมาสก่อน   ปัจจัยสำคัญมาจากการตั้งประมาณการค่าใช้จ่ายตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานฉบับใหม่ที่เพิ่มสิทธิค่าชดเชยกรณีพนักงานเกษียณอายุจาก 300 วันเป็น 400 วัน ทำให้ต้องตั้งประมาณการสำรองค่าใช้จ่ายในไตรมาสนี้ เป็นจำนวน 124 ล้านบาท

อันดับที่ 4 JAS ดิ่งเกือบฟลอร์ นลท.แห่ทิ้ง

มิติหุ้น-ความเคลื่อนไหวราคาหุ้น JAS หรือ บมจ.จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล พบว่าปรับตัวลงต่ำสุดที่ 5.90 บาท หรือลบกว่า 22.37 % ส่วนราคาล่าสุด(14.45 น.)อยู่ที่ 6.45 บาท ลดลง 15.13 % มูลค่าการซื้อขายด้วยมูลค่า 3,151 ลบ. จากกระแสข่าวที่มีการขายกิจการ โดยด้านบทวิเคราะห์ บล.ดีบีเอสวิเคอร์ส (ประเทศไทย) ออกมาระบุว่ากลุ่มที่น่าจะสนใจซื้อ JAS มากที่สุดคือ DTAC เนื่องจากยังไม่มีธุรกิจบรอดแบรนด์ ขณะที่ ADVANC มีแรงจูงใจตรงที่มีธุรกิจนี้แต่ส่วนแบ่งการตลาดยังต่ำที่ 8-9 % ถ้าซื้อ JAS (ที่มีส่วนแบ่งการตลาด 32 %) ก็จะทำให้ ADVANC มีส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มก้าวกระโดดและกลายเป็นผู้เล่นอันดับ 1 ของประเทศไทย ส่วน TRUE มีธุรกิจนี้และปัจจุบันมีส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับ 1 ที่ 38 %

อันดับที่ 5 PTTGC เตรียมเสนอขายหุ้นกู้ มูลค่าที่เสนอขายรวมทั้งสิ้นไม่เกิน 10,000 ลบ.

มิติหุ้น – นางสาวดวงกมล เศรษฐธนัง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการเงินและบัญชี บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC กล่าวว่า บริษัทฯ อยู่ระหว่างเตรียมการออกและเสนอขายหุ้นกู้ต่อผู้ลงทุนทั่วไป (Public Offering) เพื่อขยายฐานผู้ลงทุนและเสริมสร้างฐานผู้ถือหุ้นกู้รายย่อยของ GC ซึ่งจะเปิดโอกาสให้กลุ่มผู้สูงอายุมีสิทธิจองซื้อก่อน เพื่อเป็นทางเลือกในการลงทุนที่มั่นคงยามเกษียณ หุ้นกู้ของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ครั้งที่ 1/2562 ครบกำหนดไถ่ถอนปี พ.ศ. 2567 ซึ่งผู้ออกหุ้นกู้มีสิทธิไถ่ถอนหุ้นกู้ก่อนครบกำหนดไถ่ถอน มีอายุ 5 ปี อัตราดอกเบี้ยคงที่ 2.90% ต่อปี กำหนดชำระดอกเบี้ยทุกๆ 6 เดือนตลอดอายุของหุ้นกู้ มูลค่าที่เสนอขายรวมทั้งสิ้นไม่เกิน 10,000 ล้านบาท คาดว่าจะเปิดจองซื้อช่วงวันที่ 14 – 16 สิงหาคม 2562 สำหรับผู้ลงทุนทั่วไปซึ่งเป็นผู้สูงอายุ (เกิดก่อนวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2503) และช่วงวันที่ 19 – 21 สิงหาคม 2562 สำหรับผู้ลงทุนทั่วไป มูลค่าจองซื้อขั้นต่ำ 100,000 บาท และจองซื้อเป็นทวีคูณครั้งละ 100,000 บาท