สำนักงาน กสทช. เปิดตัวแอปพลิเคชัน “พฤติมาตร” เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าใจพฤติกรรมการใช้งานของตนเอง

39

นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รองเลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่า แอปพลิเคชัน “พฤติมาตร” ของสำนักงาน กสทช. เป็นแอปพลิเคชันที่ออกแบบและพัฒนาเพื่อให้ผู้บริโภคเข้าใจพฤติกรรมการใช้งานของตนเอง ภายใต้แนวคิดที่ผู้บริโภคสามารถเรียกดูข้อมูลการใช้งานได้ตลอดเวลา รวมทั้งข้อมูลประวัติการใช้งาน เพื่อให้เข้าใจพฤติกรรมการใช้งานของตนเองได้อย่างแท้จริงและรู้เท่าทัน และสามารถปรับแพ็คเกจหรือโปรโมชันโทรศัพท์ในอนาคตให้เหมาะกับการใช้งานของตนเองได้ การออกแบบแอปพลิเคชัน “พฤติมาตร” คำนึงถึงการใช้งานที่จะต้องใช้งานง่าย ไม่ยุ่งยาก และไม่ซับซ้อน โดยหน้าจอหลักจะแสดงข้อมูลประจำวันใน 3 ส่วน ได้แก่ 1) ปริมาณการใช้บริการ การโทร SMS และ MMS 2) ปริมาณการใช้บริการ Upload / Download และ 3) ปริมาณการใช้งานกลุ่มแอปพลิเคชันวันนี้ และในรอบ 7 วัน ที่ผ่านมา พร้อมทั้งแสดง 5 อันดับ แอปพลิเคชันที่มีการใช้งานสูงสุดประจำวัน นอกจากนี้ ยังมี Feature การใช้งานอื่นๆ อาทิ ข้อมูลของเครือข่ายต่าง ๆ กิจกรรมและเรื่องราวที่ผู้ใช้งานให้ความสำคัญหรือสนใจ ตลอดจนแอปพลิเคชันแนะนำอื่น ๆ อีกด้วย

นอกจากแอปพลิเคชันดังกล่าวจะสร้างประโยชน์ต่อผู้บริโภคแล้ว ในอีกบทบาทหนึ่งยังเป็นกลไกหนึ่งที่ช่วยเสริมสร้างการดำเนินงานของสำนักงาน กสทช. ในการติดตามรูปแบบการใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของประชากรไทยเพื่อเป็นข้อมูลในการกำหนดนโยบายและวางแผนกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมของประเทศให้เกิดความเป็นธรรม มีความเหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ที่มีอยู่จริง ทั้งนี้ ในส่วนของฐานข้อมูลที่สำนักงาน กสทช. ได้รับจากแอปพลิเคชันดังกล่าว ข้อมูลทั้งหมดจะถูกจัดเก็บเพื่อนำมาวิเคราะห์และประมวลผลในรูปแบบข้อมูลเชิงปริมาณและความถี่ของการใช้งานในภาพรวมเท่านั้น โดย สำนักงาน กสทช. ขอยืนยันว่าจะไม่มีการเก็บข้อมูลส่วนตัว อาทิ ข้อความจาก SMS หรือMMS บทสนทนาในแอปพลิเคชันต่าง ๆ รหัสผ่าน รูปภาพ คลิปวีดีโอ หรือข้อความ ใด ๆ ทั้งสิ้น

สำหรับแอปพลิเคชัน “พฤติมาตร” ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพัฒนาโดยสามารถติดตั้งได้เฉพาะกับ
สมาร์ตโฟนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ 6 ขึ้นไป และต้องได้รับการติดตั้งจากเจ้าหน้าที่คณะผู้วิจัยภาคสนามเท่านั้น เพื่อดำเนินการทดสอบประสิทธิภาพการใช้งานกับกลุ่มตัวอย่างในวงจำกัด ทำให้ผู้ใช้งานยังไม่สามารถดาวน์โหลดผ่านช่องทางทั่วไปของระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์และ IOS ได้ อย่างไรก็ตาม ในอนาคตอันใกล้สำนักงาน กสทช. จะดำเนินการพัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อให้สามารถใช้งานทั่วไปได้ผ่านทั้ง 2 ระบบปฏิบัติการดังกล่าวต่อไป