5 อันดับข่าวเด่นมิติหุ้นภาคเช้า

113

อันดันที่ 1 BGRIM ลุย COD โรงไฟฟ้าโซลาร์เวียดนาม 677 เมกะวัตต์ ใหญ่สุดในอาเซียน เตรียมรับรู้รายได้ทันที

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ.บี.กริม เพาเวอร์ หรือ BGRIM ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้ารายใหญ่ โดยนางปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เปิดเผยว่า โครงการ DAU TIENG 1 และ DAU TIENG 2 (DT1&2) ขนาดกำลังการผลิตติดตั้งรวม 420 เมกะวัตต์ ในประเทศเวียดนาม ซึ่งเป็นโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียนได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ให้แก่ Electricity of Vietnam (EVN) แล้วเมื่อวันที่ 3 และ 13 มิถุนายน 62 ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ Phu Yen TTP ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 257 เมกะวัตต์ในประเทศเวียดนาม ได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ให้แก่ EVN แล้วเช่นกันเมื่อวันที่ 10 มิถุนายนที่ผ่านมา ถือเป็นการ COD ก่อนกำหนดทั้ง 2 โครงการ โดยเริ่มรับรู้รายได้แล้วภายใต้สัญญาการรับซื้อไฟฟ้าในอัตรา Feed-in-Tariff (FiT) 9.35 เซ็นดอลลาร์สหรัฐต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง เป็นระยะเวลา 20 ปี

อันดับที่ 2 KBANK ลุยแพลตฟอร์ม K PLUS Market เปิดช่องทางใหม่แลกคะแนน ตอบโจทย์ฐานลูกค้ากว่า 1.75 ล้านบัตร

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK โดยนายพัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ เปิดเผยว่า K PLUS Market เป็นแพลตฟอร์มบนแอปพลิเคชัน K PLUS ที่เป็นจุดเชื่อมโยงระหว่างผู้ซื้อที่มีจำนวนกว่า 11 ล้านรายกับผู้ขายซึ่งมีทั้งผู้ผลิต ผู้จำนหน่าย เจ้าของแบรนด์ กลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยต่างๆ กว่า 600 ร้านค้า ในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม สุขภาพและความงาม แม่และเด็ก เครื่องแต่งกายและเครื่องประดับ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ตลอดจนสินค้าความบันเทิงและไลฟ์สไตล์อื่นๆ โดยปัจจุบันมีการเพิ่มจำนวนรายการสินค้าเฉลี่ยถึง 1,300 รายการต่อเดือน  โดยธนาคารคัดเลือกเฉพาะสินค้าที่ถูกลิขสิทธิ์ รวมถึงร้านค้าที่มีคุณภาพและมีประสบการณ์ในด้านการขายของออนไลน์ ที่สำคัญลูกค้าสามารถเลือกชำระเงินได้ทั้งเงินสด ชำระด้วยคะแนนสะสมบัตรเครดิต และในอนาคตจะยังสามารถใช้คะแนนของพันธมิตรมาชำระค่าสินค้าได้ด้วย

อันดับที่ 3 SQ ราคาดิ่งหนัก หลังยกเลิกสัญญางานในเมียนมาร์

มิติหุ้น-ความเคลื่อนไหวราคาหุ้น SQ หรือบมจ.สหกลอิควิปเมนท์ ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างวิศวกรรมโยธา ปรับตัวลงแรงช่วงเช้าลึกสุดที่ 2.38 บาท (-8.46 %) ส่วนราคาล่าสุด(11.04 น.) อยู่ที่ 2.44 บาท (-6.87%) ด้วยมูลค่าการซื้อขาย38.30 ล้านบาท ภายหลังบริษัทฯแจ้งยกเลิกงานในประเทศเมียนมาร์ โดยนายศาสวัต ศิริสรรพ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เปิดเผยว่า คณะกรรมการบริษัทได้มีมติอนุมัติยกเลิกสัญญาจ้างเหมาผลิตแร่ดิบ กับบริษัท เมิยนมาร์ พงษ์พิพัทธ์ จำกัดที่ได้ลงนามสัญญาจ้างเหมาผลิตแร่ดิบกับบริษัทเมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2560 เพื่อดำเนินการผลิตแร่ดิบ ณ เหมืองเฮนดา เมืองเมตตาทวาย สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ซึ่งเป็ฯการยกเลิกสัญญาด้วยความสมัครใจของทั้ง 2 ฝ่าย โดยบริษัทไม่ต้องจ่ายค่าใช้จ่ายในการยกเลิกสัญญาแต่อย่างใด และการยกเลิกสัญญานี้ยังส่งผลให้บริษัทประหยัดค่าใช้จ่ายในการบริหารโครงการได้มากขึ้น

อันดับที่ 4 PERM ลั่นงบครึ่งปีหลังสดใส ลุยคว้างานใหญ่ “กลุ่มซีพี” ทุ่มงบพันล.ซื้อเครื่องจักรผลิต “หลังคาเมทัลชีท’ ป้อนบิ๊กโปรเจ๊กต์รัฐล็อตใหญ่

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงาน บมจ.เพิ่มสินสตีลเวิคส์ หรือ PERM โดย “นางสาวณัฐพร ยงวงศ์ไพบูลย์” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ เผยว่า แนวโน้มผลประกอบการช่วงครึ่งปีหลังของปี 62 จะเติบโตต่อเนื่อง เพราะบริษัทจะได้รับอานิสงส์การที่ภาครัฐบาลเร่งขับเคลื่อนงานโครงสร้างพื้นฐานทำให้ความต้องการใช้เหล็กในประเทศเพิ่มขึ้น ประกอบกับบริษัทยังเดินหน้ารับงานโครงสร้างเหล็กโรง เลี้ยงไก่ของ “กลุ่มซีพี” ทั่วประเทศด้วย พร้อมกันนี้ บริษัทเตรียมยกระดับธุรกิจบริษัทในเครือ อย่าง “บจ.เอ็มพาวเวอร์สตีล” ผู้ทำธุรกิจจัดหาแปรรูปเหล็กและแผ่นเคลือบสังกะสี ด้วยการทุ่มงบ 1,000 ล้านบาท สร้างโรงงานและสั่งซื้อเครื่องจักรคุณสูงจากเยอรมัน เพื่อ ผลิตเป็นวัตถุดิบเหล็กม้วน และส่งต่อให้บริษัทในเครืออย่าง “บจ.ซันเทคสตีลเวิคส์” และ บริษัทพันธมิตร นำไปขึ้นรูปเป็น ‘หลังคาเมทัลชีท’ หวังเข้ารับงานโครงสร้างพื้นฐานทั้งภาครัฐบาลและเอกชน ที่กำลังมีความต้องการสูงอยู่ในขณะนี้

อันดับที่ 5 PTT ทุ่ม 1 พันล.จับมือองค์การเภสัชกรรมตั้งโรงงานผลิตยารักษาโรคมะเร็ง คาดชัดเจนในปีนี้

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ.ปตท.หรือ PTT โดยนายวรวัฒน์ พิทยศิริ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ นวัตกรรมและดิจิตอล เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการศึกษาความเป็นไปได้ของการสร้างโรงงานผลิตยารักษาโรคมะเร็งและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการผลิตวัตถุดิบสารออกฤทธิ์ทางยาว่า ขณะนี้ ปตท.ยังรอความชัดเจนจากองค์การเภสัชกรรม เนื่องจากองค์การเภสัชอยู่ระหว่างการทบทวนรายละเอียดต่างๆ หลังจากมีความกังวลความเป็นไปได้ของโครงการในบางประเด็น ซึ่งตามแผนงานที่เคยกำหนดไว้ คาดว่าจะมีความชัดเจนการลงทุนภายในปีนี้ อย่างไรก็ตามสำหรับรูปแบบการลงทุนในเบื้องต้นปตท.จะเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างโรงงานผลิตยารักษาโรคมะเร็งให้ เพราะมีความชำนาญเรื่องการบริหารจัดการโรงงานเมื่อโรงงานผลิตยาออกจำหน่ายได้ก็ให้องค์การเภสัชกรรมนำรายได้ มาชำระคืนค่าก่อสร้างให้ปตท.ในภายหลัง หรืออาจจะเป็นการร่วมลงทุนกันเลย ในเบื้องต้นคาดว่าโรงงานผลิตรักษาโรคมะเร็ง จะมูลค่าการลงทุนไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท พร้อมตั้งเป้าหมายจะเริ่มผลิตยาได้เองในประเทศประมาณปี2568

www.mitihoon.com