“AECS”มองปัจจัยใน-นอกประเทศเริ่มคลี่คลายหนุนความเชื่อมั่น แนะลงทุนหุ้น CPF- TFG- SAWAD- MTC- CPALL- ROBINS-TPCH- BAFS  

50

มิติหุ้น – บล.เออีซี ชี้สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศมีความชัดเจนขึ้น บวกปัจจัยต่างประเทศเริ่มมีสัญญาณดีขึ้น หลังสหรัฐฯ ประกาศยกเลิกแผนเก็บภาษีเม็กซิโก และมีลุ้นการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีนในการประชุม G20 ที่จะถึงนี้  พร้อมคาด Fed – PBOC เตรียมพิจารณาใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้านกลยุทธ์แนะลงทุนในหุ้น CPF- TFG- SAWAD- MTC- CPALL- ROBINS-TPCH- BAFS  

บริษัทหลักทรัพย์ เออีซี จำกัด (มหาชน) หรือ AECS  ระบุว่า  ทิศทางดัชนีตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์นี้ปรับตัวรับปัจจัยหนุนจากสถานการณ์ทางการเมืองไทยที่ชัดเจนขึ้้นหลังได้ข้อสรุปรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีชุดใหม่ หนุนให้โครงการลงทุนต่างๆ เดินหน้าได้ต่อเนื่อง

ส่วนต่างประเทศมีทิศทางที่ดีขึ้น หลังจากสหรัฐฯ ประกาศยกเลิกแผนเก็บภาษีเม็กซิโก และคาดหวังต่อการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีนในงาน G20 รวมทั้งสภาพคล่องทางเงินในตลาดที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จาก Fed และ PBOC หันมาพิจารณาใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพื่อกระตุ้น ศก.

ดังนั้นแนะนำกลยุทธ์การลงทุนในหุ้น หุ้นกลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร  คาดได้อานิสงส์บวกจากราคาเฉลี่ยของเนื้อหมูและเนื้อไก่ในประเทศช่วง YTD เพิ่มขึ้นจากราคาเฉลี่ยของปี 61 ราว 24.3% และ 7.8% ตามลำดับอีกทั้งมีแรงหนุนจากต้นทุนกากถั่วเหลืองนำเข้าที่มีราคาเฉลี่ย YTD ลดลงจากราคาเฉลี่ยของปี 61 ราว 3.2% แนะนำ CPF (ช่วง1Q62 กำไรเติบโต40.37% จากปีก่อน จากธุรกิจสุกรของไทยเวียดนามและกัมพูชาปรับตัวดีขึ้นเพราะราคาสุกรที่ลดต่ำลงในปีที่แล้วกลับเข้ามาสู่สภาวะปกติรวมทั้งการบริหารจัดการด้านการผลิตที่มีประสิทธิภาพส่วนภาพทั้งปีมองสถานการณ์โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ที่ระบาดในประเทศจีนส่งผลให้ราคาสุกรมีแนวโน้มสูงขึ้น) และ TFG (กำไร1Q62 โต 84.34%จากปีก่อน จากผลบวกของราคาหมูและไก่ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น และควบคุมต้นทุนได้ดีขึ้น แนวโน้มปี62 คาดยอดขายทำ New High จากปริมาณขายไก่และหมู ทั้งในและตปท.ที่เพิ่มขึ้น ผลจากการเพิ่มกำลังการผลิตและเจาะตลาดส่งออกใหม่  ขณะที่ธุรกิจอาหารสัตว์ตั้งเป้า2-3ปีขยายกลุ่มลูกค้านอกเครือข่ายจาก 20% เป็น 50% )

นอกจากนี้มอง กลุ่มสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ คาดมีโอกาสเติบโตได้ดีจากอัตราการขยายตัวของพอร์ตลูกหนี้ที่เพิ่มขึ้นตามความต้องการกู้ยืมเงินของกลุ่มลูกค้ารายย่อยที่ยังมีอยู่มากและได้รับผลบวกจากการที่ ธปท. เข้ามาควบคุมด้านกฏระเบียบอย่างเข้มงวดทำให้คาดจะมีเม็ดเงินไหลเข้ามาในกลุ่มของผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบมากขึ้น แนะนำ SAWAD (คาดกำไรปี 62 โต 30.8%จากปีก่อน หนุนด้วยเป้าพอร์ตสินเชื่อโต 20-30% พร้อมแผนเปิดสาขาใหม่อีก 300-400 สาขา, Asset Yield ฟื้นตัวตามสัดส่วนการรับรู้รายได้ผ่านสัญญาเงินกู้ผ่าน BFIT ที่มากขึ้นและต้นทุนทางการเงินที่ปรับลงหลังได้รับเงินเพิ่มทุนจากพันธมิตร) และ MTC (คาดกำไรปี 62 โต 20.9%จากปีก่อน หนุนด้วยแผนเปิดสาขาใหม่ตามเป้าณสิ้นปีที่ 3,900 สาขา, ต้นทุนทางการเงินที่มีแนวโน้มลดลงและภาระตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญที่น้อยลง)

กลุ่มค้าปลีก คาดได้ประโยชน์จากการเมืองไทยที่ชัดเจนมากขึ้นบวกกับได้อานิสงส์บวกจากนโยบายกระตุ้น เศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ที่คาดมุ่งเป้ามาที่การบริโภคของภาคเอกชนเป็นอันดับต้นๆ แนะนำ CPALL (ตั้งเป้ายอดขายปี 62 โตไม่ต่ำกว่า 7%YoY หนุนด้วยแผนเปิดสาขาใหม่อย่างต่อเนื่องที่ 700 สาขา ส่วนภาพใหญ่มีเป้าหมายใหม่ที่จะขยายสาขาให้ครบ 13,000 สาขาภายในปี 2564 ) และ ROBINS (ทั้งปี 62 คาดมีปัจจัยหนุนจากการเปิดสาขาใหม่1สาขา ตจว. และอีก 1 สาขา กทม. รวมถึงการขยายพื้นที่ 3 สาขา ต่างจังหวัดที่มีศักยภาพสูง(+11.5%) ส่งผลให้พื้นที่เช่าเพิ่มบวกกับ SSSG ที่คาดโตขึ้นเล็กน้อยและตั้งเป้ารักษาการโตของสินค้า Private Brand ที่มีมาร์จิ้นสูงคาด GP ปี 62 โตได้ราว 30-40bps.)

สุดท้าย กลุ่มหุ้นกระแสเงินสดแข็งแกร่ง  ท่ามกลางความผันผวนของตลาดหุ้นเราเลือกหุ้นที่มีความมั่นคงทางกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน ได้แก่กลุ่มพลังงานทางเลือกแนะนำ TPCH (แม้ช่วง 1Q62 กำไรโตเพียง 4.4%YoY เพราะมีโรงไฟฟ้าหยุดเดินเครื่องเพื่อซ่อมบำรุงเครื่องจักร แต่อย่างไรก็ดีมองระยะยาวมีแนวโน้มโตสดใสจากเป้าปี 63 จะเพิ่มกำลังการผลิตโรงไฟฟ้าชีวมวลเป็น 200 MW และโรงไฟฟ้าจากขยะกำลังการผลิต 50 MW จากปัจจุบันมีโครงการโรงไฟฟ้าที่ COD แล้ว 60 MW, โครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง 49 MW และโครงการที่อยู่ระหว่างพัฒนา 10 MW), SSP(ช่วง 1Q62 กำไรโต 16.4%YoY จากการเพิ่มขึ้นของปริมาณพลังงานไฟฟ้าที่จำหน่ายได้ของโครงการต่างๆ และการบริการรับเหมาก่อสร้างโซลาร์บนหลังคาโดยปี 62 ตั้งเป้า COD เพิ่มอีก 65.6 MW จากโซลาฟาร์มมองโกเลีย 16 MW และโซลาร์ฟาร์มเวียดนาม 49.6MW ส่งผลให้สิ้นปีกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มเป็น 157.1MW จากปี 61 ที่ 90.4MW) และ BAFS (กำไรสุทธิช่วง 1Q/62 เติบโต 7.8%YoY จากปริมาณน้ำมันเพิ่มขึ้น 4.9%YoY ส่วนปี 62 ตั้งเป้ารายได้โต 8-9%YoYและเป้าปริมาณการเติมน้ำมันโต 4%YoY ตามจำนวนเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้นพร้อมกับเริ่มรับรู้รายได้ท่อส่งน้ำมันบางปะอิน-พิจิตร และเตรียมเข้าประมูลโครงการจัดเก็บและเติมน้ำมันในสนามบินอู่ตะเภา)

www.mitihoon.com