CWT กวาดรายได้2.4พันล้าน ติดเครื่องโรงไฟฟ้าขยะ 9 MW (11/06/62)

335

มิติหุ้น-แกนนำใหญ่ค่าย CWT “วีระพล ไชยธีรัตต์” มองการไกลผนึก “สวทช.” เดินหน้าผลิตยานพาหนะสมัยใหม่หวังต่อยอดอนาคต ลั่นรายได้ปีนี้ได้เห็น 2,400 ล้านบาท พร้อมติดเครื่องลุย โรงไฟฟ้าขยะ 9 MW คาดเห็นความชัดเจน TOR ภายในก.ย.2562

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ.ชัยวัฒนา แทนเนอรี่ กรุ๊ป  หรือ CWT ผู้ผลิตเบาะหนังและชิ้นส่วนหนังยานยนต์ ตลอดจนถือหุ้นในโรงไฟฟ้า โดยนายวีระพล ไชยธีรัตต์ กรรมการผู้จัดการ เปิดเผยว่า บริษัท ได้ส่งบริษัทย่อย บริษัท สกุลฎ์ซี อินโนเวชั่น จำกัด (SakunC) ถือหุ้น 50.01%  เข้าร่วมลงทุนกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เพื่อการวิจัย และพัฒนาเทคโนโลยี ผลิตเป็นยานพาหนะสมัยใหม่

“  การจับมือกับ สวทช. ครั้งนี้ เราจะเดินหน้าทำสิ่งใหม่ๆ เช่น เรืออลูมิเนียม รถโดยสารอลูมิเนียม และยานยนต์ประเภทอื่นที่มีการใช้เทคโนโลยีอย่างครบวงจร และช่วยผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ของไทยให้ก้าวหน้า ตอบรับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และกรอบแผนยุทธศาสตร์ระยะ 20 ปี” นายวีระพลกล่าว

สยายปีกการเติบโต

นายวีระพล กล่าวว่า การร่วมมือครั้งนี้ สวทช. ใส่เงินสนับสนุนในบริษัทสกุลฎ์ซี จำนวน 20 ล้านบาท โดยเข้าซื้อหุ้นเดิม 10% จากกลุ่มโชคนำชัย ซึ่งบริษัทยังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 50% และปัจจุบันมีทุนจดทะเบียน 200 ล้านบาท

สำหรับผลประกอบการทั้งปี 2562  บริษัทคาดผลประกอบการปี 62 จะรับรู้รายได้ราว 2,400 ล้านบาท แบ่งเป็น การรับรู้รายได้จากธุรกิจเบาะหนังเดิมและการจ่ายไฟฟ้าราว 2,000 ล้านบาท และรับรู้รายได้ของบริษัทย่อย สกุลฏ์ซี เข้ามาราว 400 ล้านบาท ซึ่งการส่งมอบเรือยังทยอยส่งมอบได้ตามแผน ส่วนการประกอบรถยังอยู่ในขั้นตอนทดสอบความปลอดภัย คาดทยอยส่งมอบได้ภายในปลายปีนี้

ขณะที่ โครงการพัฒนาโรงไฟฟ้าขยะ ขนาด 9 MW  อยู่ระหว่างรอ TOR จากภาครัฐ คาดว่าจะเห็นความชัดเจนภายในเดือน ก.ย.62 นี้

โชว์ศักยภาพ

ด้านนายนำชัย สกุลฎ์โชคนำชัย ประธานกลุ่มบริษัท โชคนำชัย และบริษัท สกุลฎ์ซี อินโนเวชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ CWT กล่าวว่า การร่วมมือกับ สวทช. ในครั้งนี้ จะนำองค์ความรู้ที่สำคัญต่อการพัฒนาของบริษัท ต่อยอดองค์ความรู้ด้านการผลิตเรืออลูมิเนียม โดยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการคำนวณทางพลศาสตร์ของไหล หรือ CFD ช่วยในการจำลองสภาวะการใช้งานและศึกษาความสัมพันธ์ ตลอดจนผลกระทบจากการไหลของน้ำที่มีต่อโครงสร้างเรือ

ขณะเดียวกันการร่วมมือกับ สวทช. ยังช่วยวิจัยเรื่องความแข็งแรงของโครงสร้างรถโดยสารตัวถังอลูมิเนียม ซึ่งผลดังกล่าวสามารถนำมาใช้ลดน้ำหนักของโครงสร้างให้มีน้ำหนักเบายิ่งขึ้น และมีความแข็งแรงตามมาตรฐานสากล ซึ่งความรู้ตัวนี้จะช่วยในการลดน้ำหนักและต้นทุนผลิต อีกทั้งเป็นการใช้พลังงานไฟฟ้าได้อย่างเต็มประสิทธิภาพในรถโดยสารไฟฟ้าในอนาคต  สร้างประโยชน์ให้กับอุตสาหกรรมของประเทศได้โดยตรง