ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับเพิ่ม จากความกังวลต่อความรุนแรงในตะวันออกกลาง

1377

ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 60 – 65 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 70 – 75 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

                                                                     

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (20 – 24 พ.ค. 62)

 

ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังสถานการณ์ความไม่สงบในภูมิภาคตะวันออกกลางมีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้น ซึ่งจะขัดขวางเส้นทางการส่งออกน้ำมันดิบจากตะวันออกกลางไปเอเชียและยุโรป ส่งผลให้ประเทศผู้ผลิตน้ำมันดิบในตะวันออกกลาง รวมถึงซาอุดิอาระเบียอาจจะสามารถส่งออกน้ำมันดิบสู่ตลาดได้น้อยลง ประกอบกับปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวลดลง จากการกลับมาดำเนินการของโรงกลั่นในสหรัฐฯ หลังช่วงปิดซ่อมบำรุงประจำปี อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มได้รับแรงกดดันจากการปรับเพิ่มกำลังการผลิตจากผู้ผลิตกลุ่มโอเปก ประกอบกับความยืดเยื้อของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนที่จะส่งผลกระทบต่ออุปสงค์น้ำมันดิบโลก

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:

  • ปริมาณน้ำมันดิบจากภูมิภาคตะวันออกกลางมีแนวโน้มปรับตัวลดลง จากเหตุการณ์ความไม่สงบนอกชายฝั่งสหรัฐอาหรับอิมิเรตส์ หลังสถานีส่งออกน้ำมันดิบและเรือบรรทุกน้ำมันของซาอุดิอาระเบียถูกโจมตีใกล้บริเวณช่องแคบเฮอร์มุซ (Hormuz) ซึ่งเป็นเส้นทางเดินเรือส่งออกน้ำมันดิบที่สำคัญ โดยปริมาณน้ำมันดิบที่ส่งผ่านช่องแคบนี้คิดเป็นร้อยละ 20 ของปริมาณน้ำมันดิบทั่วโลก โดยเหตุการณ์ความไม่สงบในครั้งนี้ส่งผลให้ตลาดมีความกังวลต่ออุปทานน้ำมันดิบโลก เนื่องจากหนึ่งในสามของปริมาณน้ำมันดิบโลกมาจากภูมิภาคตะวันออกกลาง
  • ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดปรับลด หลังกำลังการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ปรับลงสู่ระดับ 12.1 บาร์เรลต่อวันในสัปดาห์ที่ผ่านมา ประกอบกับอุปสงค์น้ำมันดิบในสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากกำลังการกลั่นน้ำมันดิบในสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับเพิ่มอีก หลังโรงกลั่นสหรัฐฯ กลับมาจากช่วงปิดซ่อมบำรุงประจำปี โดยกำลังการกลั่นน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับสูงขึ้นจากร้อยละ 89 สู่ระดับร้อยละ 91
  • การคาดการณ์ปรับเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบของผู้ผลิตรายใหญ่อย่างซาอุดิอาระเบีย มีแนวโน้มจะกดดันตลาดน้ำมันดิบอย่างต่อเนื่อง หลังซาอุดิอาระเบียประกาศพร้อมที่จะเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อปรับสมดุลตลาดน้ำมันดิบ ล่าสุดสำนักงานพลังงานสากล (IEA) รายงานว่าการเพิ่มกำลังการผลิตจากผู้ผลิตกลุ่มโอเปกเพียงเล็กน้อยก็สามารถชดเชยกำลังการผลิตที่ลดลงจากเวเนซุเอลาและอิหร่านได้ เนื่องจากปริมาณน้ำมันดิบจากสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในระดับสูงและมีแนวโน้มที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยIEA คาดการณ์ว่าปริมาณน้ำมันดิบที่ตลาดต้องการจากกลุ่มโอเปกอยู่ที่ราว 30.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในช่วงไตรมาสที่สองของปี 2562 และ 30.2 ล้านบาร์ต่อวัน ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2562 ซึ่งหากกลุ่มโอเปกเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบมากกว่าความต้องการน้ำมันดิบในโลก จะทำให้เกิดภาวะน้ำมันดิบล้นตลาดได้
  • ตลาดน้ำมันดิบถูกกดดันจากผลกระทบของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ร้อนแรงมากขึ้น หลังสหรัฐฯ ประกาศปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่ากว่า 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ จากระดับเดิมที่ร้อยละ 10 เป็นระดับร้อยละ 25 เมื่อวันที่ 10 พ.ค. ที่ผ่านมา โดยมีผลบังคับใช้ทันที ในขณะที่จีนทำการตอบโต้โดยการเก็บภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ มูลค่าราว 6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ จากอัตราร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 25 เช่นกัน โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 62 ซึ่งจะต้องติดตามความคืบหน้าการเจรจาระหว่างสองประเทศนอกรอบการประชุม G20 ซึ่งจะจัดขึ้นในช่วงปลายเดือนมิ.ย. 62 นี้ ว่าปมความขัดแย้งของสองประเทศผู้นำเศรษฐกิจโลกจะคลี่คลายลงหรือไม่ โดยปัญหาสงครามยืดเยื้อจะส่งผลให้เศรษฐกิจโลกชะลอการเติบโตลง ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันดิบโลกปรับตัวลดลงด้วย
  • ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนสหรัฐฯ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกสหสรัฐฯ ยอดขายบ้านใหม่สหรัฐฯ ดัชนีภาคการผลิตและบริการยูโรโซน

 

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (13 – 17 พ.ค. 62)

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 1.10 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 62.76 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 1.59 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 72.21 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 72.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จากสถานการณ์ความไม่สงบในภูมิภาคตะวันออกกลาง หลังเรือขนส่งน้ำมันดิบ 4 ลำถูกโจมตีบริเวณนอกน่านน้ำสหรัฐอาหรับอิมิเรต นอกจากนี้ ท่อขนส่งน้ำมันดิบในซาอุดิอาระเบียยังถูกโจมตีทางโดรน ส่งผลให้ซาอุดิอาระเบียต้องปิดท่อ Petroline ซึ่งเป็นท่อขนส่งน้ำมันดิบจากฝั่งตะวันออกไปตะวันตก เพื่อตรวจสอบความเสียหาย อย่างไรก็ตามราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงกดดันจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ทวีความรุนแรงขึ้น ประกอบกับปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สิ้นสุด ณ วันที่ 10 พ.ค. 62 ปรับเพิ่ม 5.4 ล้านบาร์เรล แตะระดับ 472 ล้านบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ก.ย. 60 และเป็นระดับที่สูงกว่า 5 ปีเฉลี่ยของปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ อีกด้วย

ที่มา: ไทยออยล์

www.mitihoon.com