UAC ตั้งเป้าปีนี้ลดระดับ D/E เหลือ 1.2 เท่า ปูทางขยายการลงทุนในอนาคตเพิ่มขึ้น

42

นายชัชพล ประสพโชค กรรมการผู้จัดการ  บริษัท ยูเอซี โกลบอล จำกัด (มหาชน) หรือ UAC เปิดเผยว่า สำหรับการดำเนินธุรกิจในไตรมาส 2/2562 มีทิศทางการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของธุรกิจเทรดดิ้ง ซึ่งมีความต้องการใช้ที่เพิ่มสูงขึ้นของกลุ่มลูกค้าโรงกลั่นน้ำมันและปิโตรเคมีที่มีการขยายกำลังผลิต ส่งผลให้สารเคมีและอุปกรณ์ที่ไปใช้ในกระบวนการผลิตเป็นที่ต้องการเพิ่มขึ้น และผลิตภัณฑ์ของ UAC ก็มีความหลากหลายซึ่งลูกค้ามีความต้องการผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ ไปใช้กับกระบวนการผลิตของลูกค้าอย่างต่อเนื่อง

ส่วนธุรกิจไบโอดีเซล น่าจะมีการเติบโตสูงขึ้นจากการส่งเสริมของนโยบายภาครัฐที่มีการกำหนดให้ปรับเพิ่มสัดส่วนไบโอดีเซล (B100) เป็น B10 และ B20 เมื่อเร็วๆนี้  จึงเชื่อว่าผลการดำเนินงานของบริษัท บางจาก ไบโอฟูเอล จำกัด ที่บริษัทฯถือหุ้นอยู่ 30% ในไตรมาสที่เหลือน่าจะออกมาดี

อีกทั้งธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เคมีภัณฑ์ โดยมีผลิตภัณฑ์หลัก คือ เคมีภัณฑ์ประเภทลาเท็กซ์อีมัลชั่นและโพลิเมอร์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ ภายใต้บริษัทย่อย ยูเอซี แอ็ดวานซ์โพลิเมอร์  แอนด์ เคมิคัลส์ หรือ UAPC  ทำการขยายตลาดในกลุ่มประเทศCLMV  (กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ เวียดนาม) อย่างต่อเนื่อง   จึงมั่นใจว่ารายได้ของบริษัทฯ จะเติบโตได้ตามเป้าที่วางไว้  2,700 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น 10% เมื่อเทียบจากปีก่อน ขณะที่ EBITDA คาดว่าไม่ต่ำกว่า 350 ล้านบาท และมั่นใจว่าอัตราหนี้สินต่อทุน (D/E) ในปี 2562 จะลดลงมาอยู่ที่ระดับ 1.2 เท่า จาก ณ สิ้นไตรมาส 1/2562 มีอัตราหนี้สินต่อทุน (D/E) อยู่ที่ 1.35 เท่า ซึ่งสะท้อนความแข็งแกร่งทางการเงิน และเชื่อมั่นว่ายังเป็นการเพิ่มโอกาสการลงทุนต่อเนื่องในอนาคต

กรรมการผู้จัดการ บมจ. ยูเอซี โกลบอล (UAC) กล่าวเพิ่มว่า  ผลการดำเนินงานประจำงวดไตรมาส 1/2561 สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2562 บริษัทฯ มีรายได้จากการขายและให้บริการ 1,329.58 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.89 % จากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้จากการขายและให้บริการที่ 1,279.79 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 67.33 ล้านบาท ลดลง 26.35%  เมื่อเทียบจากงวดเดียวกันของปีก่อน

ขณะที่ EBITDA งวดไตรมาส 1/2562 อยู่ที่ 124.78 ล้านบาท หรือ  9.38%  และมีกำไรขั้นต้น 131.58 ล้านบาท ลดลง 11.40 % เนื่องจากภาวะการณ์แข่งขันในธุรกิจเทรดดิ้งสูงขึ้น และรับรู้ส่วนแบ่งผลกำไรของบริษัทร่วม BBF ที่ลดลง เนื่องจากมีผู้ผลิตไบโอดีเซลรายใหม่ และรายเดิมขยายกำลังการผลิต ทำให้มีการแข่งขันในตลาดสูงขึ้น  และราคาน้ำมันปาล์มดิบลดลงต่อเนื่อง

www.mitihoon.com