ราคาน้ำมันในมิติอัตราแลกเปลี่ยน

352

สหรัฐฯประกาศเมื่อต้นสัปดาห์นี้ว่าผู้ซื้อน้ำมันอิหร่านทุกรายต้องยุติการซื้อภายในวันที่ 1 พฤษภาคม ไม่เช่นนั้นจะเผชิญกับมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ท่าทีล่าสุดมีจุดประสงค์เพื่อตัดเส้นทางรายได้จากการขายน้ำมันของอิหร่าน ซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 5 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อปี ข่าวนีผลักดันราคาน้ำมันดิบแตะจุดสูงสุดในรอบ 6 เดือน เนื่องจากนักลงทุนวิตกว่าอาจจะเกิดภาวะขาดแคลนอุปทาน ทั้งนี้ สหรัฐฯ เริ่มดำเนินมาตรการคว่ำบาตรการส่งออกน้ำมันของอิหร่านนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2561 อย่างไรก็ดี รัฐบาลสหรัฐฯ เคยอนุญาตให้ 8 ประเทศซื้อน้ำมันจากอิหร่านได้ โดยประเทศเหล่านั้นได้แก่ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ตุรกี อิตาลี และกรีซ

 

ในการประเมินแรงกระเพื่อมจากตลาดสินค้าโภคภัณฑ์สู่ตลาดอัตราแลกเปลี่ยน เราจะวิเคราะห์สกุลเงินของประเทศที่เศรษฐกิจมีความเชื่อมโยงสูงกับการเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันดิบทั้งในด้านที่เป็นผู้ผลิตและผู้บริโภค โดยเริ่มจากแคนาดาซึ่งเป็นซัพพลายเออร์น้ำมันอันดับหนึ่งของสหรัฐฯ สกุลเงินดอลลาร์แคนาดาแข็งค่าขึ้นราว 2% ในปีนี้ ส่วนค่าเงินรูเบิลของรัสเซียซึ่งเป็นมหาอำนาจผลิตน้ำมันนอกกลุ่มโอเปก ปรับตัวอย่างโดดเด่นและยังเป็นหนึ่งในสกุลเงินที่แข็งค่ามากที่สุดในปีนี้ในอัตรา 8.4% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ

ส่วนทิศทางเงินโครนนอร์เวย์ล้อไปกับราคาน้ำมันดิบเช่นกัน เนื่องจากนอร์เวย์เป็นอีกหนึ่งในผู้มั่งคั่งด้านพลังงานของโลก ทางฝั่งประเทศผู้ใช้น้ำมันในกลุ่มอาเซียน อาทิ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และ ไทย จะได้รับผลกระทบผ่านดุลการค้าเนื่องจากบิลต้นทุนนำเข้าพลังงานปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ดี สำหรับไทยนั้นราคาน้ำมันที่ไต่ระดับขึ้นจะช่วยพยุงราคาสินค้าส่งออกที่เกี่ยวเนื่องกับปิโตรเลียมได้บ้าง

ขณะที่ค่าเงินรูเปียห์ได้แรงหนุนจากความชัดเจนทางการเมืองหลังการเลือกตั้งในอินโดนีเซีย ส่วนมาเลเซียซึ่งมีแหล่งรายได้จากอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติอยู่ในระดับสูงนั้น ปรากฎว่าค่าเงินริงกิตไม่ตอบรับต่อการปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันในรอบนี้มากนักแต่กลับเผชิญแรงกดดันจากกระแสเงินทุนไหลออกจากตลาดตราสารหนี้เป็นสำคัญ

เราเชื่อว่ามาตรการยุติการให้สิทธิยกเว้นคว่ำบาตรอิหร่านของรัฐบาลสหรัฐฯ จะส่งผลเชิงบวกชั่วคราวต่อราคาน้ำมัน โดยยังคงต้องเฝ้าติดตามปฏิกิริยาของประเทศต่างๆ ว่าจะทำตามคำประกาศของสหรัฐฯหรือไม่ ขณะที่นักวิเคราะห์ด้านพลังงานของ MUFG ดูไบ มองอย่างระมัดระวังว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับฐานลงหลังจากพุ่งขึ้นมาอย่างต่อเนื่องและเครื่องมือทางเทคนิคบ่งชี้ถึงการเข้าข่ายซื้อมากเกินไป(overbought) ในภาวะเช่นนี้ เราคาดว่าเงินรูเบิลมีความเสี่ยงต่อการอ่อนค่าลงมากที่สุดเนื่องจากราคาเต็มมูลค่าแล้วกรณีราคาน้ำมันพักฐานหรือกลับทิศทางในระยะถัดไป

โดย คุณรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการ ผู้บริหารฝ่ายส่งเสริมธุรกิจโกลบอลมาร์เก็ตส์

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)

www.mitihoon.com