GULF กางแผนลงทุน 6 ปี ใช้เงินปีละ 1 แสนลบ. ปรับแผนใหม่ ลุยต่างประเทศเพิ่ม ตั้งเป้ากำลังการผลิตไฟฟ้าโตเฉลี่ยปีละ 20%

440

มิติหุ้น – GULF กางแผนลงทุน 6 ปี ใช้เงินราวปีละ 1 แสนลบ. ปรับแผนใหม่ ลุยต่างประเทศเพิ่ม ตั้งเป้ากำลังการผลิตไฟฟ้าโตเฉลี่ยปีละ 20% ภายใน 6 ปี (62-67) ปัจจุบันมีกำลังการผลิตในมือตามสัดส่วนถือหุ้น 6,721 MW พร้อมลงทุนคลัง LNG ในโอมานคาดสรุปปีนี้

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ หรือ GULF โดยนายสารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เผยว่า ภายหลังจากกระทรวงพลังงานได้ประกาศแผนพัฒนากำลังงานการผลิตไฟฟ้าของประเทศฉบับใหม่ (พีดีพี 2018) นั้น บริษัทได้มีการปรับแผนการลงทุนใหม่ เนื่องจากแผนพีดีพีฉบับใหม่ของไทยไม่มีการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน

ขณะที่โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ (IPP) ที่ให้เอกชนลงทุนนั้นจะเห็นการลงทุนในระยะสั้นเพียง 1,400 เมกะวัตต์ และส่วนใหญ่จะเห็นการลงทุนในระยะยาว ซึ่งเมื่อถึงเวลาเปิดประมูล บริษัทพร้อมประมูลแข่งขัน ขณะที่พลังงานทดแทนส่วนใหญ่เป็นโซลาร์รูฟท็อป บริษัทไม่สนใจลงทุนโดยจะเน้นลงทุนเฉพาะโครงการพลังงานทดแทนขนาดใหญ่ นอกจากนี้แล้วในแผนพีดีพีฉบับใหม่ก็ได้มีการซื้อไฟฟ้าจากสปป.ลาว มากขึ้น

ดังนั้น บริษัทจึงได้ปรับแผนการลงทุนใหม่โดยเน้นขยายการลงทุนในต่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันมีการศึกษาลงทุนพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำตามเขื่อนแม่น้ำโขงในสปป.ลาว โดยปัจจุบันศึกษาอยู่หลายโครงการร่วมกำลังการผลิตราว 1,000 เมกะวัตต์ พร้อมกันนีบริษัทได้มีการลงทุนพัฒนาพลังงานลมที่เวียดนามเพิ่มอีกประมาณ 300-400 เมกะวัตต์ จากที่มีการจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) โซลาร์ฟาร์มไปแล้ว 100 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ยังมองโอกาสการลงทุนในประเทศโอมานเพิ่มเติม โดยได้มีการศึกษาลงทุนพลังงานลมในประเทศโอมานจากปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติในโอมาน 326 เมกะวัตต์คาดว่าจะ COD ในปี 63

ทั้งนี้ บริษัทตั้งเป้าภายใน 6 ปี (62-67) กำลังการผลิตติดตั้งตามสัดส่วนการถือหุ้นโตปีละ 20% จากปัจจุบันมีกำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นอยู่ที่ 6,721 เมกะวัตต์ COD แล้วทั้งสิ้น 2,448 เมกะวัตต์ และเตรียม COD ในปีนี้เพิ่มอีก 256 เมกะวัตต์จากโครงการโรงไฟฟ้า SPP จำนวน 2โรง ดังนั้นจะส่งผลให้กำลังการผลิตที่ COD ในปีนี้เพิ่มเป็น 2,704 เมกะวัตต์

นอกจากการลงทุนธุรกิจไฟฟ้าแล้ว บริษัทยังมองโอกาสลงทุนคลัง LNG ที่ประเทศโอมานอีกด้วย โดยคาดว่าจะสรุปลงทุนได้ภายในปีนี้ เนื่องจากโอมานมีแหล่งผลิตก๊าซ LNG จำนวนมากจึงมองโอกาสในการลงทุนเพื่อรองรับความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นในอนาคต ขณะที่โครงการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุดเฟส3 คาดว่าเอกชนต้องใช้เงินลงทุนราว 40,000 ล้านบาท ส่วนโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง คาดว่าในส่วนการลงทุนคนเอกชนจะต้องใช้เงินลงทุนราว 20,000 ล้านบาท โดยการลงทุนของ GULF ในช่วงระยะ 6 ปี นั้นคาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณปีละ 1 แสนล้านบาทรวมเงินกู้

www.mitihoon.com