NER บุกตลาดจีน รับอานิสงส์จีนลดภาษี VAT ตั้งเป้ารายได้ปี 62 โตไม่ต่ำกว่า 30%

114

บมจ. นอร์ทอีส รับเบอร์ (NER) บุกตลาดยางประเทศจีน รับอานิสงส์จีนลดภาษีมูลค่าเพิ่ม คาดเป้ารายได้ปี 2562 เติบโตไม่ต่ำกว่า 30% ด้านผู้ถือหุ้นใหญ่ยืนยันจะไม่มีการขายหุ้นออก พร้อมแนะกองทุนต่างๆให้เข้าซื้อในกระดาน

นายชูวิทย์ จึงธนสมบูรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NER เปิดเผยว่า บริษัท Sailun Group ผู้ผลิตยางรายใหญ่อันลำดับ 6 ของประเทศจีน ได้รับผลิตภัณฑ์ของบริษัทเพื่อทำการตรวจสอบและทดลองใช้แล้ว โดยคาดว่าจะสามารถส่งมอบสินค้าและรับรู้รายได้จากลูกค้ารายนี้ในไตรมาสที่ 3 ปี 62  นอกจากนี้บริษัทได้มีโอกาสเจรจากับลูกค้ารายอื่นเป็นผู้ผลิตยางรายใหญ่อันดับ 5 ของประเทศจีน ที่มีความสนใจผลิตภัณฑ์ยางแท่งของ NER อีกด้วย ปัจจุบัน NER มีสัดส่วนรายได้ลูกค้าจากประเทศจีนประมาณ  45 %

“ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2562 ที่ผ่านมา ประเทศจีนได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยมีการประกาศลดอัตราภาษีมูลค่า เพิ่มสำหรับภาคการผลิต จากเดิม 16 % เหลือ 13% ซึ่งส่งผลให้ลดภาระต้นทุนและกระตุ้นยอดขายให้กับภาคการผลิต รวมไปถึงอุตสาหกรรมยางในประเทศจีน ที่ยังมีความต้องการใช้ยางเพื่อเป็นวัตถุดิบหลักในหลายอุตสาหกรรม เช่นอุตสาหกรรมยางรถยนต์ โดยจีนมีความต้องการใช้ยางแผ่นและยางแท่งเป็นจำนวนมาก ซึ่งมาตรการดังกล่าวน่าจะส่งผลดีต่อ NER ให้การเจรจากับลูกค้าจีนให้ประสบความสำเร็จได้ง่ายขึ้น” นายชูวิทย์ กล่าว

สำหรับภาพรวมผลประกอบการปี 2562 บริษัทฯ ยังคงเป้ารายได้เติบโตที่ 30% เทียบกับปี 2561 ที่มีรายได้อยู่ที่ 10,084.01 ล้านบาท เนื่องจากมีการขยายกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในไตรมาส 2/2562 จะมีกำลังการผลิตเพิ่ม 60,000 / ปี จากยางแผ่นผสม (RSS Mixtures Rubber) หลังจากมีการปรับปรุงโรงงานเสร็จ โดยใช้งบลงทุนไป 40 ล้านบาท จะทำให้บริษัทมีกำลังการผลิตรวมทั้งปีประมาณ 2.6 แสนตัน/ปี จาก ปี 2561 ที่กำลังการผลิตอยู่ที่ 2.1 แสนตัน/ปี  ขณะเดียวกันในไตรมาส 4/62 โรงงานใหม่จะเสร็จ ซึ่งมีกำลังการผลิตเพิ่มมาอีก 1.7 แสนตัน ส่งผลให้คาดว่าในช่วงต้นปี 2563 บริษัทฯ จะมีกำลังการผลิตราม 4.6 แสนตัน ซึ่งเพียงพอที่จะรองรับออเดอร์ทั้งจากลูกค้ารายใหม่ และฐานลูกค้ารายเดิมที่เราจะพยายามรักษาฐานไว้ ปัจจุบันบริษัทมีการทำสัญญาระยะยาว (Long Term Contact) กับลูกค้าไว้แล้วประมาณ 11 รายยอดขายประมาณ 1.1 หมื่นตัน/เดือน

นายชูวิทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการเติบโตของบริษัททั้งรายได้และกำลังการผลิต ทำให้ในช่วง 2 – 3 เดือนที่ผ่านมา มีกองทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่นมาเลเซีย สิงค์โปร์ ขอเข้าพบบริษัทฯ เพื่อเจรจาขอซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นใหญ่ แต่ผู้ถือหุ้นใหญ่ยืนยันว่าจะไม่มีการขายหุ้นออก พร้อมกันนี้ได้แนะนำให้กองทุนซื้อหุ้นผ่านตลาดหลักทรัพย์ซึ่งเป็นตลาดรองโดยตรง ทั้งนี้จากการปิดสมุดทะเบียนล่าสุดพบกองทุน 4 แห่งที่ลงหุ้นในหุ้น NER

www.mitihoon.com