5 อันดับข่าวเด่นมิติหุ้นภาคบ่าย

116

5 อันดับข่าวเด่นมิติหุ้นภาคบ่าย

อันดับที่ 1 KBANK หั่นจีดีพีปี 62 เหลือ 3.7% รับพิษสงครามการค้า ฉุดส่งออกดำดิ่ง คาดดอกเบี้ยทรงตัว 1.75%         

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย โดยนางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ เปิดเผยว่า ภาพรวมเศรษฐกิจหลังจากการเลือกตั้งเสร็จสิ้น ประเมินว่าจะยังเห็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นผลจากการที่รัฐบาลใหม่ต้องเร่งผลักดันนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยกรอบงบประมาณปี 62 และการผ่านร่างงบประมาณปี 63 ซึ่งคาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2562 จะเห็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาอย่างต่อเนื่อง และจะส่งผลบวกต่ออัตรากรขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือจีดีพี ประมาณ 0.2-0.4% อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ปรับลดประมาณการจีดีพีปี 62 ของไทยลงมาอยู่ที่ระดับ 3.7% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ 4.0% โดยมีกรอบประมาณการอยู่ที่ 3.2-3.9% เนื่องจากเศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบจากภาคการส่งออกที่ชะลอตัวจากปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน รวมถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยในช่วง 2 เดือนแรกของปี 62 พบว่าตัวเลขการส่งออกของไทยยังคงติดลบในทุกลุ่มสินค้าส่งออกสำคัญ เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ อาหาร และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์

อันดับที่ 2 AOT โบรกฯ มองมุมบวก แยก 2 สัญญาประมูลดิวตี้ฟรี – นักท่องเที่ยวยังหนุนผลงานโต เพิ่มคำแนะนำ “ซื้อ” อัพเป้า 75 บ.

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บล.เอเชีย เว็ลท์ ประเมินแนวโน้มธุรกิจ บมจ.ท่าอากาศยานไทย หรือ AOT โดยระบุว่า AOT กลับมาเดินหน้าเปิดประมูลสิทธิร้าน Duty Free โดยแยกเป็น 2 สัญญา คือ สัญญาที่ 1 ได้แก่ สนามบินสุวรรณภูมิ ให้สัมปทานแบบรายเดียว เป็นเวลา 10 ปี 6 เดือน คือ 28 ก.ย.2563- 31 มี.ค.2574  และสัญญาที่ 2 ได้แก่ สนามบินภูเก็ต เชียงใหม่ และหาดใหญ่ คาดกระบวนการประมูลจะแล้วเสร็จภายในสิ้นเดือน พ.ค.62 นี้ โดยมีมุมมองเป็นบวกต่อกรณีดังกล่าว  ด้านจำนวนนักท่องเที่ยวเดือน ก.พ.กลับวมาหดตัว 12% เทียบปีก่อน ลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน ชี้ให้เห็นผลลบหลังมาตรการยกเว้นการจัดเก็บ Visa on Arrival ครบกำหนดเมื่อวันที่ 1 ม.ค.62

อันดับที่ 3 TVT ตั้งเป้ารายได้ปีนี้แตะ 600 ล้านบาท พร้อมวางงบลงทุน 180-200 ล้านบาท ผลิตคอนเทนต์เพิ่ม

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ.ทีวี ธันเดอร์ หรือ TVT โดย นายพิรัฐ เย็นสุดใจ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร  เปิดเผยว่า  บริษัทคาดรายได้ปีนี้จะทำได้ 600 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ 526.12 ล้านบาท โดยมาจากธุรกิจการผลิตรายการโทรทัศน์ให้กับช่องทีวีดิจิทัลที่จะเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังผลิตรายการโทรทัศน์ให้กับช่องทีวีดิจิทัลเดิม อย่างช่อง 3 , ช่อง ONE31, True4u ช่อง 24 และช่องไทยรัฐทีวี อีกจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังมีลูกค้าใหม่อย่าง PPTV เพื่อผลิตละค พร้อมกันนี้ บริษัทยังวางงบลงทุนไว้ที่ 180-200 ล้านบาท เพื่อนำมาผลิตคอนเทนต์เพิ่มเติมเสริมศักยภาพการดำเนินธุรกิจ

อันดับที่ 4 BANPU กระแสเงินสดปีละ 1.2 พันล้านเหรียญ มีศักยภาพในการลงทุนและจ่ายปันผลสม่ำเสมอ เล็งพัฒนาถ่านหินในแหล่งมองโกเลีย กูรูเคาะเป้า 22 บ.

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ.บ้านปู หรือ BANPU ผู้ประกอบธุรกิจผลิตจำหน่ายถ่านหิน และธุรกิจพลังงานทดแทน โดยนางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เผยว่า บริษัทมีกระแสเงินสดเข้ามาปีละประมาณ 1,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีเงินสดในมือกว่า 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  ซึ่งจะสามารถรองรับการลงทุนในกลุ่มบริษัทได้เป็นอย่างดี  ทั้งนี้ ในช่วงปี 62-63 บริษัทมีแผนใช้เงินลงทุนรวม 835 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับการลงทุนใน 3 ธุรกิจหลักของบริษัท ประกอบด้วยธุรกิจแหล่งพลังงาน  ธุรกิจพลังงานหมุนเวียน และธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน ส่วนความคืบหน้าการพัฒนาเหมืองถ่านหินในประเทศมองโกเลีย ปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษาเพื่อนำถ่านหินมาผลิตเป็นน้ำมันดีเซล และปิโตรเคมี โดยเหมือง TU และเหมือง UK มีการตั้งโรงงานทดลองขนาดเล็กที่ใช้เงินลงทุนไม่มาก

อันดับที่ 5 ASAP ลุยเพิ่มรถใหม่ 3-4 พันคัน มั่นใจปี 62 ผลงานกลับมา Turnaround ย้ำ! ไม่มีแผนเพิ่มทุน

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ.ซินเนอร์เจติค ออโต้ เพอร์ฟอร์มานซ์ หรือ ASAP โดยนายทรงวิทย์ ฐิติปุญญา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เปิดเผยว่า บริษัทมีแผนนำรถยนต์ครบสัญญาเช่า มาจำหน่ายเป็นรถยนต์มือสอง ประมาณ 1,200-1,500 คัน ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการเติบโตจากการขายรถยนต์มือสอง ผ่านช่องทางออนไลน์และผ่าน asap Select ที่มีกำไรต่อหน่วยที่ดีกว่าการนำรถยนต์ไปประมูล โดยบริษัทมั่นใจว่าภายในปี 2563 บริษัท ประเมินว่าจะเป็นปีที่ผลการดำเนินงานกลับมา Turnaround หลังต้นทุนค่าเบี้ยประกันต้นทุนค่าเสื่อมราคาและค่าใช้จ่ายเบี้ยประกันรถยนต์ลดลง ที่จะช่วยให้กำไรขั้นต้นปรับตัวดีขึ้น ส่วนปีนี้ยังเดินหน้าได้ตามแผนงาน โดยการสร้างความแข็งแกร่งให้แก่กลุ่มธุรกิจรถยนต์ให้เช่าระยะยาว ระยะสั้น รถยนต์ให้เช่าพร้อมคนขับและรถยนต์ให้เช่าตามการใช้งานจริงภายใต้แบรนด์ asap GO โดยบริษัทมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่เพียงพอต่อการเติบโตทางธุรกิจประกอบกับสถาบันการเงินพร้อมให้การสนับสนุนวงเงินสินเชื่อเพื่อขับเคลื่อนแผนการดำเนินงานให้เป็นไปตามเป้าหมาย ดังนั้น บริษัทจึงไม่มีความจำเป็นต้องเพิ่มทุนแต่อย่างใด

www.mitihoon.com