แนะนำถือหุ้นที่มีในพอร์ตรอปรับกลยุทธ์เมื่อทิศทางการเมืองชัดเจน

107

สัปดาห์ทำการสุดท้ายของเดือนมีนาคม ถือเป็นสัปดาห์ที่ค่อนข้างตื่นเต้นไม่น้อยทีเดียว หลังผ่านการเลือกตั้งใหญ่ทั่วประเทศเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ขณะนี้ประเด็นเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลกำลังเป็นที่จับตามอง เพราะ 2 พรรคการเมืองใหญ่กำลังแข่งขันกันจัดตั้งรัฐบาล ขณะเดียวกันยังมีปัญหาเรื่องการนับคะแนนของคณะกรรมการเลือกตั้ง ทำให้บรรยากาศและสถานการณ์ทางการเมืองตอนนี้ยังไม่มีทิศทางที่ชัดเจนจนกว่าจะมีการประกาศอย่างเป็นทางการว่าพรรคการเมืองใดจะร่วมกันตั้งรัฐบาล

ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจโลกเกิดความกังวลว่าจะมีการชะลอตัวลงส่งผลให้ตลาดหุ้นโลกปรับตัวลง โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯ แม้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ส่งสัญญาณว่าอาจไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้ แต่เมื่อดูที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯอายุ 3 เดือนที่ปรับตัวสูงขึ้นกว่าพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี นั้น อาจสะท้อนว่าในช่วงอีก 4 ไตรมาสจากนี้เศรษฐกิจสหรัฐฯอาจชะลอตัวลงได้ขณะเดียวกันในสัปดาห์นี้ต้องติดตามรายงานตัวเลขขายบ้านไตรมาส 4 ของสหรัฐฯ ว่าจะสะท้อนการเติบโตของเศรษฐกิจหรือไม่

ส่วนประเด็นเรื่องการถอนตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) นั้น ล่าสุดสภาผู้แทนราษฎรอังกฤษลงมติด้วยคะแนนเสียง 329 ต่อ 302 เสียงเมื่อวานนี้ เป็นการเข้ามาดำเนินควบคุมกระบวนการ Brexit ของรัฐสภา แทนนางเทเรซา เมย์ หลังจากไม่ได้รับเสียงสนับสนุนเพียงพอที่จะทำให้รัฐสภาอังกฤษอนุมัติข้อตกลง Brexit ของเธอในครั้งที่ 3 ดังนั้นจึงเป็นไปได้มากว่าอังกฤษจะถอนตัวจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (EU)  แบบไร้ข้อตกลง ในวันที่ 12 เม.ย.นี้ ซึ่งจะส่งต่อตลาดหุ้นยุโรปและทำให้เงินปอนด์ปรับตัวอ่อนค่าลง

โดยตลาดหุ้นไทยเอง เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (25 มี.ค.) นักลงทุนต่างชาติยังมีแรงขายตามตลาดโลกโดยดัชนี SET Index ปรับตัวลง -20.38 จุด (-1.24%) ดัชนีปิดตลาดที่ 1,625.91 จุด สำหรับภาพรวมในสัปดาห์นี้หลายประเด็นจะมีผลต่อเนื่องไปถึงเดือนหน้าซึ่งจะเป็นการเริ่มต้นของไตรมาสที่ 2 ของปีนี้  โดยเฉพาะปัจจัยในประเทศที่ต้องจับตาดูว่าสุดท้ายใครจะเป็นรัฐบาล รวมถึงปัจจัยต่างประเทศที่ต้องติดตามเศรษฐกิจของประเทศสำคัญๆ ที่มีแนวโน้มชะลอตัว ทั้งสหรัฐฯและยุโรป ดังนั้นในช่วงระยะสั้นนี้ตลาดจึงมีแนวโน้มผันผวนทำให้นักลงทุนเริ่มปรับการลงทุนไปเน้นสินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้น เช่น พันธบัตรและทองคำ

สำหรับคำแนะนำการลงทุนจาก KTBST ในสัปดาห์นี้ ประเมินว่าทิศทางดัชนีจะเคลื่อนไหวในกรอบ 1,620 -1,670 จุด แรงซื้อในหุ้นไทยอาจจะยังกลับเข้ามาไม่มากนักด้วยปัจจัยกดดันจากทั้งในและต่างประเทศทำให้นักลงทุนชะลอการลงทุน แต่ในเชิงกลยุทธ์นั้น KTBST ไม่ได้ประเมินว่าจะเป็นผลลบต่อตลาด ดังนั้น หากนักลงทุนมีหุ้นในพอร์ต จึงแนะนำให้ “ถือ”  (Hold) ไว้ก่อน และติดตามข่าวสารเพื่อเตรียมปรับกลยุทธ์ หากทิศทางการเมืองส่งผลลบต่อตลาดหุ้น ทั้งนี้ หุ้นกลุ่มที่น่าสนใจยังเป็นกลุ่มที่เติบโตตามเศรษฐกิจ(Domestic Play) รวมถึงหุ้นที่ได้รับอานิสงค์จากการเลือกตั้ง เช่น  KBANK , KTB, BJC , STEC, IVL , และ CPF

โดยชาตรี  โรจนอาภา รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์และพัฒนาผลิตภัณฑ์ 

บล. เคทีบี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (KTBST)

www.mitihoon.com