โมเมนตัมเศรษฐกิจโลก จับตาประเทศไหนกระทบน้อยที่สุด

223

ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ประเมินว่าความเสี่ยงสำหรับเศรษฐกิจของเขตยูโรโซนโน้มเอียงไปทางด้านขาลง และเลื่อนเวลาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยออกไปจนถึงปี 2563 รวมถึงเสนอมาตรการปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำรอบใหม่แก่ธนาคารพาณิชย์หลังสิ้นสุดการประชุมเมื่อวันที่ 7 มีนาคม เพื่อช่วยประคับประคองเศรษฐกิจ ทั้งนี้ อีซีบีเปิดโครงการรีไฟแนนซ์ระยะยาว (TLTRO) รอบ 3 ซึ่งประกอบด้วยสินเชื่อระยะ 2 ปี โดยตั้งเป้าหมายไปที่การช่วยเหลือธนาคารพาณิชย์ในยูโรโซน และเป็นการต่ออายุสินเชื่อ TLTRO รอบเก่าที่มีขนาด 7.2 แสนล้านยูโร โดยการปรับเปลี่ยนท่าทีดังกล่าวส่งผลให้ค่าเงินยูโรและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเยอรมันร่วงลงอย่างรุนแรง

สำหรับแนวโน้มอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในระยะถัดไป อีซีบีได้หั่นประมาณการลงและยอมรับว่าเศรษฐกิจชะลอตัวนานกว่าที่เคยประเมินไว้ โดยในประมาณการล่าสุด อีซีบีคาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 1.1% ในปีนี้, 1.6% ในปี 2563 และ 1.5% ในปี 2564 และคาดว่าอัตราเงินเฟ้อช่วงปี 2562-2564 จะอยู่ที่ 1.2%, 1.5% และ 1.6% ตามลำดับ อย่างไรก็ดี สมาชิกคณะกรรมการกำหนดนโยบายของอีซีบีชี้แจงเมื่อต้นสัปดาห์นี้ว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่ถือเป็นการปรับตัวให้เข้ากับความเป็นจริงและไม่ได้ปรับเปลี่ยนทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินแต่อย่างใด โดยระบุว่ายังไม่มีสัญญาณภาวะเงินฝืด แม้ว่าการดึงอัตราเงินเฟ้อขึ้นสู่ระดับเป้าหมายของอีซีบีที่ต่ำกว่า 2% เล็กน้อย อาจจะต้องใช้เวลาอีกนานก็ตาม

สิ่งที่เราสังเกตได้ชัดเจนคือ ปฏิกิริยาของนักลงทุนที่มีต่อข้อมูลการจ้างงานนอกภาคเกษตรในสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นเพียง 20,000 ตำแหน่งในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งต่ำกว่าการคาดการณ์ที่ 180,000 ตำแหน่ง และเป็นการปรับขึ้นที่น้อยที่สุดนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2560 บ่งชี้ว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ชะลอตัวลงอย่างมากในไตรมาสแรกและตอกย้ำมุมมองที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ใกล้จะจะยุติวัฎจักรการคุมเข้มนโยบายแล้ว แต่เงินยูโรกลับฟื้นตัวขึ้นเพียงจำกัดเท่านั้น และนักลงทุนยังคงระมัดระวังที่จะเทขายเงินดอลลาร์อย่างมีนัยสำคัญ

นอกจากนี้ ตลาดยังมองไปถึงค่าแรงเฉลี่ยต่อชั่วโมงของสหรัฐฯ ในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเติบโตสูงถึง 3.4 % เมื่อเทียบเป็นรายปี ถือเป็นการปรับตัวสูงขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนเมษายน 2553 ขณะที่ในระหว่างนี้ ข้อมูลเศรษฐกิจนอกสหรัฐฯ ยังคงแสดงถึงอุปสรรคต่อการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของเยอรมนีลดลงผิดคาดในเดือนมกราคม ขณะที่เศรษฐกิจยูโรโซนกำลังได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งทางการค้าและการออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร (Brexit) หลังจากที่สามารถหลีกเลี่ยงภาวะถดถอยได้อย่างฉิวเฉียดในปีที่ผ่านมา ทั้งหมดนี้ สะท้อนภาวะปัจจุบันที่นักลงทุนกำลังเผชิญความท้าทายในการคัดกรองว่าแรงส่งของเศรษฐกิจประเทศไหนแผ่วลงน้อยที่สุด

โดยรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการ ผู้บริหารฝ่ายส่งเสริมธุรกิจโกลบอลมาร์เก็ตส์

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)

www.mitihoon.com