Trade War คลี่คลาย ข่าวบวกแต่ไม่ควรชะล่าใจ

197

ช่วงเปิดตลาดการเงินต้นสัปดาห์นี้ สินทรัพย์เสี่ยงได้รับปัจจัยหนุนสำคัญหลังจากประธานาธิบดีทรัมป์ของสหรัฐฯ ระบุผ่าน Twitter ว่ามีความคืบหน้าในการหารือกับจีนในหลายประเด็น ซึ่งครอบคลุมถึงการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา การถ่ายโอนเทคโนโลยี ภาคเกษตรกรรมและบริการ รวมถึงประเด็นอัตราแลกเปลี่ยน โดยสหรัฐฯ จะเลื่อนเวลาในการปรับขึ้นอัตราภาษีนำเข้าที่เรียกเก็บจากสินค้าจีนมูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์ จาก 10% เป็น 25% ออกไปจากวันที่ 1 มีนาคม

นอกจากนี้ ผู้นำสหรัฐฯ วางแผนจะประชุมสุดยอดกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีนที่รีสอร์ทของเขาในรัฐฟลอริดาเพื่อจะได้ทำข้อตกลงให้สำเร็จลุล่วงอย่างชัดเจนกรณีการเจรจาการค้ามีความคืบหน้าเพิ่มเติม ตลาดหุ้นทั่วโลกขานรับข่าวดังกล่าวในเชิงบวก สกุลเงินที่มีความเชื่อมโยงกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์และเศรษฐกิจจีนสูง อย่างเช่น เงินดอลลาร์ออสเตรเลียปรับตัวแข็งค่าขึ้น ทางด้านเงินหยวนแตะระดับแข็งค่าสุดนับตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคม 2561 ส่วนเงินวอนแข็งค่านำหน้าสกุลเงินในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ รวมถึงเงินบาทแข็งค่าขึ้น ขณะที่เงินเยนซึ่งมักถูกมองว่าเป็นแหล่งพักเงินที่ปลอดภัย ยังคงทรงตัว

ดูเหมือนว่าสกุลเงินตลาดเกิดใหม่มีแนวโน้มสดใสมากขึ้นเลยทีเดียว เพราะนอกเหนือจากประเด็นข้อพิพาททางการค้าซึ่งรุมเร้าบรรยากาศการลงทุนเกือบตลอดทั้งปี 2561 ได้ผ่อนคลายลงแล้ว ทางธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) ได้ทยอยส่งสัญญาณชะลอหรือแม้กระทั่งยุติการขึ้นอัตราดอกเบี้ยและเตรียมที่จะหยุดมาตรการลดขนาดงบดุลในปีนี้

ส่วนธนาคารกลางหลายแห่งของกลุ่มเศรษฐกิจหลักทั่วโลกสื่อสารกับตลาดด้วยท่าทีสายพิราบเช่นกัน โดยนักลงทุนคาดว่าธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) อาจจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่ผ่านการปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำแก่ธนาคารพาณิชย์ ส่วนธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ระบุว่าอาจยกระดับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหากจำเป็น

อย่างไรก็ตาม ทิศทางกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายในระยะกลางถึงยาวมีความไม่แน่นอนสูงและจะผันผวนมากขึ้น โดยตลาดกำลังแบ่งรับแบ่งสู้ในการรับมือกับภาวะปกติแบบใหม่ (New Normal) ซึ่งอัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำแต่เงินเฟ้อจากการใช้จ่ายกลับขยับขึ้นช้าอย่างเช่นในสหรัฐฯ ขณะที่ความเสี่ยงสำคัญยังอยู่ที่ผลกระทบจากการเติบโตที่ช้าลงของเศรษฐกิจจีนซึ่งตลาดไม่แน่ใจว่า ปมปัญหาที่แท้จริงมีความรุนแรงเพียงใด ส่วนกระบวนการ Brexit ที่ทุลักทุเลและยังไม่ได้บทสรุปยังคงฉุดรั้งความเชื่อมั่นเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจโลกอีกทางหนึ่ง

 

คุณรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการ

ผู้บริหารฝ่ายส่งเสริมธุรกิจโกลบอลมาร์เก็ตส์