TMB-TCAP ลุยทำดิวดิลิเจ้นท์ควบกิจการ ก่อนออกหุ้นเพิ่มทุน 1.4 แสนลบ. คาดจบดีลสิ้นปี 62              

343

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB และธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TBANK เดินหน้าแผนควบรวมกิจการ โดยนายจุมพล ริมสาคร รองปลัดกระทรวงการคลัง และในฐานะตัวแทนประธานกรรมการ TMB เปิดเผยภายหลังการลงนามบันทึกข้อตกลงแบบไม่มีผลผูกพันทางกฎหมายระหว่าง ING GROUP N.V. (ING), บมจ.ทุนธนชาต หรือ TCAP, Bank of Nova Scotia (BNS), TBANK และ TMB โดยระบุว่า กระทรวงการคลังพร้อมที่จะสนับสนุนแผนการควบรวมกิจการระหว่าง TMB และ TBANK รวมถึงพร้อมที่จะดำเนินการเพิ่มทุนในครั้งนี้ด้วย โดยกระทรวงการคลังยังคงยืนยันที่จะเป็นผู้ถือหุ้นหลักภายหลังการควบรวมกิจการด้วย


ทั้งนี้ กระทรวงการคลังมองว่าการควบรวมกิจการระหว่าง TMB และ TBANK จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งทางด้านธุรกิจ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เนื่องจากการควบรวมกิจการจะช่วยให้สถาบันการเงินมีขนาดใหญ่ขึ้น และยังเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการและเปิดทางให้สถาบันการเงินมีการควบรวมกิจการกันได้เพื่อสร้างการเติบโตของธุรกิจ

ด้านนายศุภเดช ภูมิพิพัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร TCAP กล่าวว่า TCAP จะยังเป็นผู้ถือหุ้นหลักในธนาคารแห่งใหม่ โดยจะมีสัดส่วนการถือหุ้นมากกว่า 20% ซึ่งขั้นตอนต่างๆ หลังจากนี้จะเป็นในเรื่องการปรับโครงสร้างธุรกิจของ TBANK เพื่อให้มีขนาดสินทรัพย์อยู่ในระดับเดียวกับ TMB โดยจะดำเนินการขายเงินลงทุนในบรัทย่อยและเงินลงทุนอื่นๆทั้งที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์และนอกตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งหลักๆ คือ บล.ธนชาต, บมจ.ธนชาตประกันภัย, บจ.บริหารสินทรัพย์ ที เอส และบมจ.ราชธานีลิสซิ่ง โดยที่ TBANK จะมีการขายเงินลงทุนดังกล่าวให้กับทาง TCAP และ BNS
ขณะที่นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TMB กล่าวว่า หลังจากที่ได้มีการลงนามใน MOU ครั้งนี้แล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการที่ทั้งสองธนาคารจะเข้าทำ Due Diligence ซึ่งน่าจะใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือน หากการทำ Due Diligence เป็นที่น่าใจของทั้งสองฝ่าย ธนาคารจะเรียกประชุมผู้ถือหุ้นนัดพิเศษเพื่อขออนุมัติการเพิ่มทุนต่อไป ซึ่งเบื้องต้นคาดว่ากระบวนการควบรวมกิจการจะเสร็จสิ้นในช่วงปลายปี 2562 นี้

สำหรับการเพิ่มทุนนั้น TMB จะเป็นฝ่ายจัดหาเงินทุนมูลค่าประมาณ 1.3-1.4 แสนล้านบาท โดย 70% ของเงินทุนที่ต้องจัดหาทั้งหมดนั้นจะมาจากการออกหุ้นเพิ่มทุน และส่วนที่เหลือจะดำเนินการจัดหาด้วยการออกตราสารหนี้ ซึ่งในส่วนการออกหุ้นเพิ่มทุนจะแบ่งเป็น 2 ส่วนใหญ่คือ การเพิ่มทุนส่วนแรกมูลค่า 50,000-55,000 ล้านบาท เป็นการออกหุ้นเพิ่มทุนให้กับ TCAP และ BNS โดยเบื้องต้นคาดว่าหุ้นเพิ่มทุนจะมีมูลค่าเท่ากับ 1.1 เท่าของมูลค่าทางบัญชีที่ปรับปรุงของ TMB ในส่วนของหุ้นเพิ่มทุนอีก 40,000-45,000 ล้านบาทนั้น TMB จะเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นปัจจุบันของธนาคาร รวมทั้งอาจออกหุ้นเพื่อเสนอขายหุ้นแก่ผู้ถือหุ้นปัจจุบันรายอื่นๆหรือนักลงทุนรายใหม่ในวงจำกัดอีกด้วย