5 อันดับข่าวเด่นมิติหุ้นภาคเช้า

129

อันดับที่ 1 ANAN ควักเงิน 510 ลบ.ซื้อหุ้น DTC ลงทุนยาว โบรกให้เป้า 5.80บ./หุ้น

มิติหุ้น-บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ (ANAN) โดยนายชานนท์ เรืองกฤตยา กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหารเปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการได้มีมติอนุมัติการซื้อหุ้นสามัญของบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) (“DTC”) จำนวน 42,500,000 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 5 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมด จำนวน 850,000,000 หุ้น ในราคาหุ้นละ 12 บาท มูลค่ารวมประมาณ 510 ล้านบาท โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการลงทุนระยะยาว ทั้งนี้ บริษัทได้ดำเนินการซื้อหุ้น DTC จำนวนดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 5 ก.พ. 2562ด้านบทวิเคราะห์ บล.เคจีไอ(ประเทศไทย) ระบุว่า ประเด็นที่ ANAN เข้าซื้อหุ้น DTC สัดสว่น 5 % ฝ่ายวิจัยประเมินเป็นบวกต่อการกระจายโครงสร้างรายได้ของ ANAN และยังเป็นการลดความเสี่ยงวัฏจักรธุรกิจอสังหาฯ นอกจากนี้ยังมองว่าแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของไทยน่าจะเริ่มปรับทิศทางทรงตัวมากขึ้นตามทิศทางดอกเบี้ยภูมิภาค (เดิมคาดเป็นขาขึ้นต่อเนื่อง) เป็น Sentiment ที่ดีต่อกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ จึงประเมินราคาพื้นฐานที่ 5.80 บาท/หุ้น

อันดับที่ 2 TRC เซ็นสัญญาคว้างานสายไฟฟ้าลงดินของ กฟน. มูลค่า 2,205.42 ลบ.

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ.ทีอาร์ซีคอนสตรัคชั่น หรือ TRC ผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้าง โดยนายภาสิต ลี้สกุล กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เผยว่า บริษัท สหการวิศวกร จำกัด ซึ่งป็นบริษัทย่อยของ TRC เป็นผู้ชนะการเสนอราคาตามประกาศของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เมื่อวันที่ 24 ธ.ค.61 และเมื่อวันที่ 5 ก.พ. 62  ได้ลงนามในสัญญารับเหมาก่อสร้างโครงการกับ กฟน.ในโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน โครงการรัชดาภิเษก-อโศก ระยะทางตามความยาวถนน ประมาณ 8.2 กิโลเมตร ถนนพระราม 4 (สถานีไฟฟ้าย่อยคลองเตยถึงซอยไผสิงโต) ถนนรัชดาภิเษก(ถนนพระราม 4 ถึง คลองสามเสน) ถนนเพชรบุรีตัดใหม่(ถนนทางพิเศษเฉลิมมหานคร ถึงแยกเอกมัยเหนือเพชรบุรี) มูลค่างาน 2,205.42 ล้านบาท ระยะเวลางาน 1,260 วัน

 

อันดับที่ 3 SANKOฝรั่งป้อนดีลหนุนQ4พีค-ลุยคว้างานรถยนต์EV

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ.ซังโกะ ไดคาซติ้ง (ประเทศไทย) หรือ SANKO ผู้ผลิตชิ้นส่วนอะลูมิเนียมฉีดขึ้นรูปและชิ้นส่วนขึ้นรูปในกลุ่มยานยนต์-เครื่องใช้ไฟฟ้า โดย “นายรัฐวัฒน์ ศุขสายชล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการ เผยว่า ผลงานไตรมาส 4/61 มีโอกาสทำสถิติสูงสุดแห่งปี เพราะลูกค้าเดิมต่างประเทศทั้ง ฮังการี-อิตาลี-ฝรั่งเศส ต่างสั่งออเดอร์ล่วงหน้าเข้ามาเป็นจำนวนมาก รวมถึงบริษัทจะทยอยรับรู้รายได้จากงานในมือ (Backlog) ที่มีกว่า 100 ล้านบาทด้วย ทำให้ทั้งปี 61 มั่นใจรายได้จะทำนิวไฮถึง 25% หรือแตะ 550 ล้านบาท ส่วนปี 62  ตั้งเป้ารายได้ทำนิวไฮต่อเนื่องแตะที่ 600 ล้านบาท เพราะล่าสุดได้รับงานใหญ่อย่าง ออเดอร์ชิ้นส่วนเกียร์รถยนต์ไฟฟ้า (EV) จาก “บริษัท Borg Warner” และบริษัทอื่นๆ เข้ามาประมาณ 70-100/ปี คาดจะเริ่มส่งมอบออเดอร์ในช่วงไตรมาส 3/62 เป็นต้นไป

อันดับที่ 4 PTTEP สอยออเดอร์ก๊าซธรรมชาติ – ส่งขาย “เชลล์” 2 ล้านตันต่อปี

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม หรือ PTTEP โดยนายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เปิดเผยว่า Mozambique LNG1 Company Pte. Ltd. ซึ่งเป็นบริษัทภายใต้การร่วมทุนของ PTTEP และกลุ่มบริษัทร่วมทุนในโครงการโมซัมบิก โรวูมา ออฟชอร์ แอเรีย วัน ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลว (Sales and Purchase Agreement: SPA) กับบริษัท เชลล์ อินเตอร์เนชั่นแนล เทรดดิ้ง มิดเดิล อีสต์ (Shell International Trading Middle East Ltd.) หรือ เชลล์ โดยจะรับซื้อก๊าซธรรมชาติเหลวในปริมาณ 2 ล้านตันต่อปี เป็นระยะเวลา 13 ปี ทั้งนี้ โครงการโมซัมบิก โรวูมา ออฟชอร์ แอเรีย วัน เป็นหนึ่งในโครงการที่สำคัญตามยุทธศาสตร์ของ PTTEP ซึ่งให้ความสำคัญกับการลงทุนในพื้นที่ใหม่ ๆที่มีศักยภาพสูง และมีต้นทุนต่ำ

อันดับที่ 5 GPSC ลุย COD เพิ่มอีก 491.5 MW – จ่อลงทุนโรงไฟฟ้าเมียนมา

มิติหุ้น – ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ หรือ GPSC ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้า โดยนายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ เปิดเผยว่า ภาพรวมผลประกอบการปี 2562 จะเติบโตมากกว่าปีก่อน เนื่องจากจะรับรู้รายได้เต็มปีจากโครงการที่ได้จ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ในปีก่อน โดยในช่วงสิ้นปี 2561 มีกำลังการผลิตไฟฟ้า COD อยู่ที่ 1,530 เมกะวัตต์ จากกำลังผลิตที่มีอยู่มือราว 1,979.5 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ GPSC มีกำลังการผลิตเหลืออยู่ในมือราว 491.5 เมกะวัตต์ โดยจะ COD ในปี 2562 ราว 431.5 เมกะวัตต์ ซึ่งประกอบด้วยโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำไซยะบุรีตามสัดส่วนการถือหุ้น 321 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าน้ำลิก1 จำนวน 26 เมกะวัตต์ และโซลาร์ฟาร์ม 39.5 เมกะวัตต์ รวมทั้งโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมระยองแห่งที่ 4 (CUP-4) กำลังผลิต 45 เมกะวัตต์ ไอน้ำ 70 ตันต่อชั่วโมง ส่วนโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมนวนคร2 ตามสัดส่วนการถือหุ้น 60 เมกะวัตต์ จะเริ่ม COD ภายในปี 2563

www.mitihoon.com