PRIME มั่นใจแบ็คดอร์หุ้น FC เข้าตลาดหุ้นปลายไตรมาส1ปี 62

981

มิติหุ้น-PRIME มั่นใจแบ็คดอร์หุ้น FC เข้าตลาดหุ้นปลายไตรมาส1ปีหน้า หวังระดมเงินขยายลงทุนทั้งในและต่างประเทศ พร้อมเล็งล้างขาดทุนสะสม ชี้ปีนี้ธุรกิจผลิตไฟฟ้ามีกำไร 220 ล้านบาท ปี 62 เติบโตก้าวกระโดดตามการ COD

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บริษัท ไพร์ม โรด อัลเทอร์เนทีฟ จำกัด ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้า นายสมประสงค์ ปัญจะลักษณ์ ประธานกรรมการ กล่าวถึงการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ทางอ้อม หรือ แบ็คดอร์ ลิสติ้งหุ้น บมจ.ฟู้ด แคปปิตอล หรือ FC ในสัดส่วน 87% คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จประมาณปลายไตรมาส1/62 หรือต้นไตรมาส2/62 โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการรออนุมัติไฟล์ลิ้งจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และจะเปลี่ยนชื่อเป็น บมจ.ไพร์ม โรด เพาเวอร์ หรือ PRIME

ทั้งนี้การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เพื่อระดมทุนใช้ในขยายนการลงทุนทั้งในและต่างประเทศเนื่องจากว่ามีโครงการที่เตรียมลงทุนอีกหลายโครงการ ประกอบกับการเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ยังทำให้เกิดความคล่องตัวมากขึ้นในการลงทุน และเป็นการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน โดยวิธีการระดมทุนอาจจะใช้ 2 วิธี คือ การขายหุ้นในสัดส่วน 2% จากที่ถืออยู่ 87% หรือวิธีการออกหุ้นใหม่ (PO) มากกว่า 2%

อย่างไรก็ตามก่อนดำเนินการทำแบ็คดอร์ฯ FC จะทยอยขายทรัพย์สินของ FC ก่อน ซึ่งหากดำเนินการขายทรัพย์สินแล้วเสร็จทั้งหมดจะส่งผลให้มีเงินสดจากการขายทรัพย์สินของ FC ราว 576 ล้านบาทหลังจากหักหนี้สิน ทั้งนี้เมื่อดำเนินการแบ็คดอร์แล้วเสร็จจะส่งผลให้บริษัทพลิกกลับมาเป็นกำไรทันที หนี้สินของ FC ก็จะหมดไปพร้อมกับการปลดล็อคเครื่องหมาย C ออกไปด้วย นอกจากนี้ยังมีแผนล้างขาดทุนสะสมของ FC ราว 2,000 ล้านบาท โดยอาจจะใช้วิธีลดทุน หรือแตกพาร์

ขณะที่ผลประกอบการเฉพาะของบริษัท PRIME ในปี 61 คาดว่ามีกำไร 220 ล้านบาทรายได้ 450 ล้านบาท เนื่องจากเติบโตตามกำลังการผลิตโซลาร์ฟาร์มที่จ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) 182.64 เมกะวัตต์จากที่มีกำลังการผลิตที่มีอยู่ในมือทั้งหมด 208.14 เมกะวัตต์ ส่วนในปี 62 เตรียม COD โซลาร์ฟาร์มในประเทศไทย 15 เมกะวัตต์ ไต้หวัน 8.5 เมกะวัตต์ ญี่ปุ่น 5 เมกะวัตต์ คาดว่าจะส่งผลให้รายได้เติบโตเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด

นอกจากนี้แล้วบริษัทยังอยู่ระหว่างศึกษาขยายการลงทุนเพิ่มเติมทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ โดยในต่างประเทศนั้นได้ศึกษาการลงทุนในปะเทศเวียดนาม ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น รวมทั้งไต้หวันที่มีศักยภาพการลงทุนด้านพลังงานลมกว่า 2,000 เมกะวัตต์ ส่วนในประเทศไทยต้องรอให้แผนพีดีพี มีความชัดเจนก่อน

www.mitihoon.com